ประเสริฐ เดินหน้า ‘โคราชโมเดล Learn to Earn’ สร้างโอกาส ‘เรียนรู้ มีรายได้ มีวุฒิการศึกษา’ ช่วยเยาวชนนอกระบบกว่า 2.5 หมื่นคน รับเปิดเทอมใหม่
นครราชสีมา, 3 พฤษภาคม 2568 – นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ระดับชาติ ได้เป็นประธานการประชุมติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษากลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมา หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘โคราชโมเดล’
การประชุมครั้งนี้มีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมอย่างคับคั่ง อาทิ ศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา, ผู้แทนจากหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา, สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา, ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.), และผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ณ อุทยานการเรียนรู้จังหวัดนครราชสีมา เพื่อหารือแนวทางการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
นายประเสริฐ เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาในจังหวัดนครราชสีมาว่า จากการสำรวจและติดตามอย่างครบถ้วน 100 เปอร์เซ็นต์ พบว่ามีจำนวนเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ทั้งสิ้น 28,896 คน โดยสามารถพบตัวตนได้ 25,029 คน ส่วนอีก 3,867 คน ไม่พบตัวตน ซึ่งส่วนใหญ่คาดว่ามีการย้ายถิ่นฐานตามครอบครัว หรือเดินทางไปทำงานในพื้นที่อื่น อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมการฯ จะไม่ละทิ้งความพยายามในการติดตาม และจะประสานเชื่อมโยงข้อมูลบุคคลจากพื้นที่อื่น ๆ เพื่อค้นหาต่อไป
สำหรับกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ติดตามพบตัวตนแล้ว 25,029 คน จังหวัดนครราชสีมาได้เตรียมพร้อมที่จะสร้างการศึกษาที่มีความหลากหลายทางเลือก เพื่อตอบโจทย์ชีวิต ศักยภาพ ความถนัด ความสนใจ และสภาพปัญหาที่แตกต่างกันของเยาวชนแต่ละบุคคล โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมของ ‘โคราชโมเดล’ สำหรับการเปิดเทอมใหม่ในปีการศึกษา 2568
หัวใจสำคัญของ ‘โคราชโมเดล’ คือการริเริ่มความร่วมมือภายใต้แนวคิด ‘Learn to Earn’ เรียนรู้ มีรายได้ มีวุฒิการศึกษา โดย กสศ. จะทำงานร่วมกับ หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา, สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา, เครือข่ายศูนย์การเรียนสถาบันทางสังคม สังกัด สพฐ., สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และที่สำคัญคือ การขยายเครือข่ายความร่วมมือกับภาคเอกชน รวมถึงสถานประกอบการและธุรกิจ SME ในจังหวัดนครราชสีมา เพื่อเปิดพื้นที่ให้เยาวชนกลุ่มเป้าหมายอายุ 15-24 ปี ที่หลุดจากระบบการศึกษา ได้กลับเข้าสู่เส้นทางการเรียนรู้ สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพ และในขณะเดียวกันก็มีรายได้ระหว่างเรียน รวมถึงได้รับวุฒิการศึกษาที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน
นายประเสริฐ กล่าวย้ำถึงสาเหตุหลักที่ทำให้เยาวชนจำนวนมากต้องออกจากการศึกษาไปทำงาน คือปัญหาทางเศรษฐกิจที่ต้องช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัว รัฐบาลจึงเล็งเห็นและสร้างโอกาสใหม่ทางการศึกษาที่ไม่จำกัดอยู่เพียงในรั้วโรงเรียน ผ่านโมเดล ‘Learn to Earn’ นี้ ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนกลุ่มนี้มีทักษะพื้นฐานชีวิตที่จำเป็น และมีทักษะทางอาชีพที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานในโลกยุคใหม่
“นี่คือ โคราชโมเดล ภายใต้นโยบาย Thailand Zero Dropout ของรัฐบาล เพื่อมุ่งมั่นในการพัฒนากำลังคนของเราให้พร้อมสำหรับการก้าวไปสู่การเป็น Smart City และ MICE City ของจังหวัดนครราชสีมา การลงทุนในการศึกษาทางเลือกนี้ คือการลงทุนในอนาคตของชาติ เพื่อให้ไม่มีเด็กและเยาวชนคนใดถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง” นายประเสริฐ กล่าวปิดท้าย
การขับเคลื่อน ‘โคราชโมเดล Learn to Earn’ ครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาอย่างยั่งยืนในระดับพื้นที่ โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อคืนโอกาสทางการศึกษาและการประกอบอาชีพให้กับเยาวชน สร้างรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการพัฒนาจังหวัดและประเทศชาติต่อไป