สืบสานประเพณี! ชุมชนประจวบฯ ร่วมใจก่อ ‘พระเจดีย์ทราย’ สงกรานต์ 2568 ที่วัดเก่าแก่กว่า 100 ปี
ประจวบคีรีขันธ์ – ชุมชนปากคลองบางนางรม เขตเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ เตรียมจัดกิจกรรมใหญ่สืบสานประเพณีอันดีงามในเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี พ.ศ. 2568 ด้วยการชวนชาวบ้านและนักท่องเที่ยวร่วมกัน “ขนทรายเข้าวัด” และ “ก่อพระเจดีย์ทราย” ณ วัดธรรมิการามวรวิหาร หรือวัดใน วัดเก่าแก่ที่มีอายุยาวนานกว่า 100 ปี ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางชุมชน
นายสุรชัย พรหมรัตนเลิศ ประธานชุมชนปากคลองบางนางรม เปิดเผยว่า กิจกรรมก่อพระเจดีย์ทรายนี้จัดขึ้นเป็นปีที่สอง โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อฟื้นฟูและสืบทอดประเพณีโบราณที่นับวันจะเริ่มเลือนหายไป โดยเฉพาะในชุมชนเก่าแก่อย่างปากคลองบางนางรม และวัดคู่ชุมชนอย่างวัดธรรมิการาม ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน การจัดงานนี้จึงเป็นการช่วยธำรงรักษาวัฒนธรรมให้คงอยู่คู่กับชุมชนและส่งต่อไปยังรุ่นลูกหลาน
กิจกรรมดังกล่าวจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-17 เมษายน 2568 โดยมีพื้นที่จัดงานหลักบริเวณวัดธรรมิการาม (วัดใน) และขยายไปถึงบริเวณถนนสวนสน เลียบชายหาดทะเลอ่าวประจวบคีรีขันธ์
ภายในงานมีกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อส่งเสริมทั้งด้านศาสนา วัฒนธรรม และการมีส่วนร่วมของชุมชน เช่น การล้างทำความสะอาดพระอุโบสถ การทำบุญเลี้ยงพระและถวายภัตตาหารตามประเพณี พิธีสรงน้ำพระภิกษุสงฆ์และรดน้ำดำหัวขอพรผู้สูงอายุในชุมชน รวมถึงการเล่นน้ำสงกรานต์อย่างสนุกสนาน และที่สำคัญคือการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษและผู้ที่ล่วงลับไปแล้วตามความเชื่อ
อย่างไรก็ตาม ไฮไลต์และสีสันสำคัญของงานที่ไม่ควรพลาด คือ กิจกรรมการประกวดก่อพระเจดีย์ทราย ซึ่งเปิดโอกาสให้ทั้งชาวบ้านในชุมชนและนักท่องเที่ยวได้ร่วมกันสร้างสรรค์เจดีย์ทรายในรูปแบบต่างๆ สะท้อนถึงความคิดสร้างสรรค์และความสามัคคี
ประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายนั้นมีความผูกพันกับคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนา โดยเชื่อว่าการขนทรายเข้าวัดเป็นการนำเอาทรายที่อาจติดเท้าออกจากวัดโดยไม่ตั้งใจกลับคืนสู่ศาสนสถานในรูปแบบของพระเจดีย์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับอานิสงส์ผลบุญอันยิ่งใหญ่ จะไม่ตกนรกหลายร้อยชาติ หากเกิดเป็นมนุษย์ก็จะมีพร้อมด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ บริวาร และเกียรติยศชื่อเสียง เมื่อเสียชีวิตก็จะขึ้นสวรรค์พร้อมสมบัติและนางฟ้าเป็นบริวาร ด้วยเหตุนี้ คนโบราณจึงนิยมก่อพระเจดีย์ทรายในวันสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย และยังถือเป็นกุศโลบายอันชาญฉลาดที่ทำให้คนในชุมชนได้มีโอกาสมารวมตัว พบปะสังสรรค์ และจัดกิจกรรมรื่นเริงร่วมกัน สร้างความสามัคคีแน่นแฟ้นในชุมชน
นอกจากความเชื่อเรื่องบุญกุศลแล้ว ในบางภูมิภาคอย่างภาคเหนือยังมีความเชื่อที่เข้มข้นเกี่ยวกับสมบัติของสงฆ์ โดยเชื่อว่าหากไม่นำทรายที่ติดเท้าออกจากวัดไปคืนวัดแล้ว เมื่อตายไปอาจเกิดเป็นเปรตได้ เพราะถือว่าเป็นการนำสมบัติของวัดออกไปโดยไม่ได้ชดใช้ การก่อเจดีย์ทรายจึงเป็นการชดใช้และป้องกันการเกิดบาป
นายสุรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการสืบสานประเพณีและสร้างความสามัคคีแล้ว การจัดกิจกรรมเหล่านี้ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ กระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้านในชุมชน ซึ่งชุมชนปากคลองบางนางรมมีความได้เปรียบด้านทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม ทั้งชายหาดทะเลอ่าวประจวบคีรีขันธ์ คลองบางนางรม วัดเก่าแก่อายุกว่าร้อยปี และยังมีอาชีพดั้งเดิมคือการเพาะเลี้ยงหอย กิจกรรมสงกรานต์นี้จะเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตและประเพณีท้องถิ่นอันทรงคุณค่า.