สส.พรรคประชาชน จี้ กยศ. แจงปมเพิ่มยอดหักหนี้ 3 พันบาท ชี้กระทบแรงงาน เสี่ยงหนี้นอกระบบ ถามไร้เงินคืน 2 พันล้านหรือไม่?
รัฐสภา, 2 พฤษภาคม 2568 – กลุ่ม สส.พรรคประชาชน (ปชน.) นำโดย นายสุรพันธ์ ไวยากรณ์ สส.นนทบุรี, นายปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ และนายสหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี ได้ร่วมกันแถลงข่าว ณ อาคารรัฐสภา เพื่อแสดงความกังวลและตั้งคำถามต่อมาตรการล่าสุดของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่ได้เริ่มหักเงินเพิ่ม 3,000 บาท จากผู้ค้างชำระหนี้ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2568 เป็นต้นไป
นายสุรพันธ์ ไวยากรณ์ เปิดเผยว่า ทาง สส.พรรคประชาชนได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) แก้ไขปัญหาหนี้สิน ความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำ สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 9 เมษายน ที่ผ่านมา และทาง กมธ. ได้มีมติสอบถามรายละเอียดไปยัง กยศ. ซึ่งได้รับหนังสือชี้แจงกลับมาว่า เป็นไปตามอำนาจ พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ฉบับที่ 2 พ.ศ.2566 และประกาศคณะกรรมการกองทุน 2567 อย่างไรก็ตาม หนังสือชี้แจงดังกล่าวยังขาดความชัดเจน ทำให้เกิดข้อสงสัยหลายประการ
ประเด็นแรก คือ การที่นายจ้างต้องหักเงินเพิ่ม 3,000 บาท นอกเหนือจากยอดหักเดิม ซึ่ง สส.มองว่าส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้กู้ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงาน และ กยศ. ยังไม่มีแนวทางผ่อนปรนหรือการสื่อสารที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งในส่วนของการลงทะเบียนออนไลน์และสถานที่ตั้งของ กยศ. ที่มีเฉพาะในกรุงเทพฯ
ประเด็นที่สอง มีข้อสังเกตว่าในเดือนเมษายน 2568 มีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ถึง 1.74 แสนรายภายในเดือนเดียว ทำให้ยอดสะสมเพิ่มเป็น 4 แสนราย ซึ่งคิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 896.36% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม สส. จึงตั้งคำถามว่า การส่งจดหมายเรียกเก็บเงินเพิ่มนี้ เป็นการบีบบังคับให้ลูกหนี้ต้องเข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้หรือไม่
ประเด็นที่สาม ปัญหาเรื่องการเดินทางและการเข้าถึงการปรับโครงสร้างหนี้ เนื่องจากมีศูนย์หลักอยู่ที่กรุงเทพฯ เท่านั้น ส่วนในต่างจังหวัด กยศ. ให้ลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ แต่ระบบดังกล่าวยังไม่เสถียร แม้ กยศ. จะรับปากว่าจะพัฒนาให้ดีขึ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2569 แต่กลับเร่งให้ลูกหนี้ลงทะเบียนปรับโครงสร้างหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายน 2568 ซึ่งเป็นความย้อนแย้ง
และประเด็นที่สี่ จากลูกหนี้ 3.5 ล้านรายที่อยู่ในสถานะชำระหนี้ มีผู้ลงทะเบียนปรับโครงสร้างหนี้เพียง 4 แสนราย หรือคิดเป็น 13% ส่วนอีก 87% ที่เหลือ กยศ. ยังไม่ได้ชี้แจงสถานะที่ชัดเจน ซึ่ง สส. อยากให้ กยศ. ชี้แจงข้อมูลในส่วนนี้เพิ่มเติม
ด้าน นายสหัสวัต คุ้มคง กล่าวเสริมว่า มาตรการหักเงินเพิ่มนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพี่น้องชาวแรงงานอย่างชัดเจน หาก กยศ. ต้องการให้ลูกหนี้เข้ามาพูดคุยเรื่องการชำระหนี้ ควรมีการแจ้งล่วงหน้าหรือกำหนดกรอบเวลาให้ลูกหนี้ 3 เดือนก่อนเริ่มหักเงินเพิ่ม แต่การหักทันทีโดยไม่แจ้งเตือน ทำให้แรงงานจำนวนมากไม่สามารถวางแผนทางการเงินได้ โดยเฉพาะช่วงสิ้นเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงใกล้เปิดเทอมของบุตรหลาน ทำให้ภาระซับซ้อนและหลายคนอาจต้องไปกู้หนี้ยืมสินจากหนี้นอกระบบ ซึ่งมาตรการนี้อาจก่อให้เกิดหนี้ส่วนอื่นเพิ่มขึ้น แทนที่จะช่วยลดปัญหาหนี้สินโดยรวม และอาจเป็นการคิดที่ไม่รอบคอบของ กยศ. ที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นอยู่แล้ว
นายปารมี ไวจงเจริญ กล่าวถึงการบริหารจัดการภายในของ กยศ. ว่ายังไม่ปราณีตและไม่มีประสิทธิภาพ แม้จะมีกฎหมายรองรับแล้วก็ตาม ทำให้เกิดปัญหาขาดความเชื่อมั่นจากผู้กู้ อีกทั้ง ตั้งแต่การแก้ไขกฎหมายในปี 2566 จนถึงปัจจุบัน กยศ. ยังไม่สามารถคำนวณหนี้ใหม่และปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ส่วนใหญ่ได้ โดยทำได้เพียง 4 แสนราย จาก 3.5 ล้านราย ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะมีการคำนวณหนี้ใหม่ที่อาจทำให้ดอกเบี้ยลดลง และผู้กู้บางรายอาจได้รับเงินคืนกว่า 2 พันล้านบาท ซึ่ง กยศ. ยังไม่ได้ตอบชัดเจนว่าได้คืนเงินให้กับลูกหนี้กลุ่มนี้แล้วหรือไม่ ทำให้สังคมตั้งข้อสงสัยว่า กยศ. อาจไม่มีเงินเพียงพอที่จะคืนให้กับลูกหนี้หรือไม่