นายกฯ นั่งหัวโต๊ะ กพช. เตรียมเคาะ “ค่าไฟงวดใหม่” ก.ย.-ธ.ค. 68 พร้อมขับเคลื่อนพลังงานสะอาด
กรุงเทพฯ – น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (6 พฤษภาคม 2568) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 1/2568 ณ ตึกภักดีบดินทร์ โดยมีวาระสำคัญคือการพิจารณากำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2568
การประชุม กพช. ครั้งนี้ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 171 จะเริ่มต้นขึ้นในเวลา 14.00 น. โดยมีระเบียบวาระเพื่อรับทราบความคืบหน้าหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการด้านพลังงานของประเทศ
ประเด็นที่ กพช. จะรับทราบคือ ความคืบหน้าแนวทางการกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ และการดำเนินการที่เกี่ยวข้องของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน รวมถึงผลการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม โดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรม ภายใต้แผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดสำหรับปี 2566-2573
นอกจากนี้ วาระสำคัญที่คาดว่าจะได้รับความสนใจอย่างมากคือ การร่วมกันพิจารณานโยบายและแนวทางการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้า หรือค่า Ft สำหรับงวดเดือนกันยายนถึงธันวาคม 2568 ซึ่งเป็นอัตราที่จะมีผลต่อภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประชาชนในช่วงปลายปี
น.ส.ศศิกานต์ ยังกล่าวถึงความพยายามของรัฐบาลในการดูแลค่าไฟฟ้าว่า เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีมติปรับลดค่า Ft ประจำงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2568 จากเดิม 36.72 สตางค์ต่อหน่วย เหลือ 19.72 สตางค์ต่อหน่วย โดยได้นำเงินเรียกคืนผลประโยชน์ส่วนเกินจากการไฟฟ้าจำนวน 12,200 ล้านบาท มาใช้ลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน คิดเป็น 17 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เรียกเก็บปรับลดลงจาก 4.15 บาทต่อหน่วย เป็น 3.98 บาทต่อหน่วย
พร้อมกันนี้ ที่ประชุม กพช. จะพิจารณาเรื่องการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมในส่วนที่ยังไม่ได้ดำเนินการ เพื่อเร่งขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงานสะอาดของรัฐบาลให้บรรลุเป้าหมาย
รองโฆษกรัฐบาล ย้ำว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ยืนยันจะเดินหน้าบริหารจัดการด้านพลังงานอย่างรอบคอบ โปร่งใส โดยยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นศูนย์กลาง พร้อมเร่งผลักดันการใช้พลังงานสะอาดควบคู่ไปกับการดูแลค่าไฟฟ้าให้อยู่ในระดับเหมาะสม เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานอย่างยั่งยืน และลดภาระค่าครองชีพของคนไทยในระยะยาว