รมว.คลัง สั่งรื้อแผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่! ทบทวน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต 10k’ – ปลัดคลังยัน ‘ไม่กู้’ เป็นทางเลือกสุดท้าย
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในเร็วๆ นี้ เตรียมเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อพิจารณาแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่
นายพิชัย กล่าวว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมข้อมูล เพื่อนำมาพิจารณาเหตุการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ผันผวน และผลกระทบจากมาตรการนโยบายภาษีของสหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีประเทศใดได้ข้อสรุปที่ชัดเจน นอกจากนี้ ยังรวมถึงกรณีที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody’s ได้มีการปรับมุมมอง (Outlook) ของประเทศไทยลง
พร้อมกันนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีหนังสือแจ้งมายังกระทรวงการคลัง ให้พิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และแสดงความเห็นว่าอยากเห็นการปรับการลงทุนภายในประเทศ เพื่อรองรับการส่งออก ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
“ผมไม่ได้ทำเรื่องนี้คนเดียว ซึ่งได้มีการออกหนังสือถึงคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เพื่อแจ้งให้รับรู้ว่าจะมีการปรับแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ และให้แต่ละหน่วยงานทำการบ้านมาว่าจะต้องทบทวน ส่วนเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่เหลืออยู่ในระบบ 157,000 ล้านบาท ต้องพิจารณาความจำเป็นอีกครั้งว่าจะนำไปใช้ในด้านใด และปรับการใช้เงินอย่างไร โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตจะเอายังไง จะปรับอย่างไร กรรมการทุกคนรับรู้ว่าจะมีการปรับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งต่างคนก็ต่างไปทำการบ้านกันมา” นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย มองว่า การทบทวนและปรับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ ควรเน้นที่ภาพรวมทั้งหมด ทั้งในด้านงบประมาณ การส่งออก การขยายฐานภาษี และโครงการต่างๆ ที่จะออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การส่งเสริมการผลิตไบโอแก๊ส โดยการสร้างโรงไฟฟ้าชีวภาพที่ผลิตไฟฟ้าจากวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น หญ้าเนเปียร์ หรือ ข้าวโพด รวมถึงพิจารณาแผนการเพิ่มพื้นที่การปลูกข้าวโพด เนื่องจากประเทศมีความต้องการข้าวโพดปีละ 4.5 ล้านตัน และการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งจะต้องมีการลงทุนเพิ่มขึ้น เพื่อใช้น้ำในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ ได้มีการเชิญภาคเอกชนมาหารือถึงผลกระทบจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ เพื่อหาแนวทางการดูแลที่ชัดเจน โดยอาจต้องเตรียมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งรัฐจะเข้าไปช่วยในเรื่องดอกเบี้ยเพื่อให้ได้ดอกเบี้ยที่ต่ำลง ผ่านการหารือกับสถาบันการเงิน และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
นายพิชัย ยังกล่าวถึงโอกาสของประเทศไทยในการส่งออกสินค้าไปจีนมากขึ้น หากสหรัฐฯ ลดการส่งออกไปจีน จีนอาจขาดแคลนสินค้าบางชนิด ซึ่งจากการสำรวจพบว่า จีนยังมีความต้องการสินค้าประเภทอะไหล่อยู่จำนวนมาก ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ไทยส่งออกไปจีนได้มากขึ้น
ด้าน นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวเสริมว่า การประชุมคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องมีขึ้นให้เร็วที่สุดภายในเดือนนี้ ส่วนแผนการกู้เงินเพื่อดูแลเศรษฐกิจนั้น จะเป็นความคิดหรือทางเลือกสุดท้าย เนื่องจากยังมีช่องทางในการใช้งบประมาณที่หลากหลาย
ปลัดกระทรวงการคลังระบุว่า แหล่งเงินทุนที่สามารถนำมาใช้ได้ก่อน ได้แก่ การบริหารงบประมาณ โดยปีงบประมาณ 2568 ยังมีวงเงินเหลืออยู่ 1.57 แสนล้านบาท, เงินกู้เพื่อการฉุกเฉินตามวงเงินงบประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเคยใช้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19, และเงินคงคลัง นอกจากนี้ ยังมีการบริหารจัดการงบประมาณปี 2569 ด้วย
“เป้าหมายในการใช้เงินรอบนี้ เพื่อให้กระตุ้นเศรษฐกิจไม่ใช่แค่ประคอง แต่ต้องทำให้กระตุ้นให้มากที่สุด ซึ่งเราไม่อยากให้จีดีพีโตแค่ 2.1% ตามที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประมาณการ โดยจะใส่ความพยายามให้เศรษฐกิจเติบโตใกล้เคียง 3% ให้มากที่สุด” นายลวรณ กล่าวทิ้งท้าย