“พิชัย” รมว.พาณิชย์ ถก Bank of America แลกเปลี่ยนมุมมองเศรษฐกิจโลก รับมือภาษีสหรัฐฯ
กรุงเทพฯ – นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2568 ว่า ได้มีโอกาสพบหารือกับคณะผู้บริหารระดับสูงของ ธนาคารแห่งอเมริกา (Bank of America) นำโดย นายจิน ซู ประธานประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก และนางสาวฟาน ซิง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การหารือครั้งนี้มีขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์การค้า การลงทุน และเศรษฐกิจโลก ตลอดจนกระชับความสัมพันธ์กับภาคเอกชนที่สำคัญของสหรัฐฯ
นายพิชัย กล่าวว่า การหารือกับตัวแทนจากสถาบันการเงินชั้นนำระดับโลกอย่าง Bank of America ถือเป็นโอกาสอันดีในการรับฟังและแลกเปลี่ยนมุมมองเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจากภาคการเงินของสหรัฐฯ ในการนี้ ตนได้ย้ำถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ และไทยกำลังติดตามนโยบายการค้าใหม่ๆ ของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการเก็บภาษีต่างตอบแทน (reciprocal tariffs) ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นมาตรการที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยได้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงว่า ไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการค้าที่สมดุลและเป็นประโยชน์ร่วมกันกับสหรัฐฯ โดยอาจพิจารณาเพิ่มการนำเข้าสินค้าบางประเภทที่ไทยมีความต้องการจากสหรัฐฯ เพื่อช่วยลดการขาดดุลการค้า และพร้อมขยายความร่วมมือในอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพและสามารถเกื้อหนุนกันได้ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อาหารแปรรูป และซูเปอร์ฟู๊ด ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของไทยในการเป็นศูนย์กลางอาหารของโลก และสนับสนุนความมั่นคงด้านอาหารในระดับสากล
นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงบทบาทของสหรัฐฯ ในฐานะผู้ผลิตและส่งออกพลังงานชั้นนำ โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งไทยมองว่าสามารถตอบสนองความต้องการด้านพลังงานของไทยได้ การเพิ่มความร่วมมือด้านพลังงานกับสหรัฐฯ จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของไทยในระยะยาวได้เป็นอย่างดี
นายพิชัย ได้เน้นย้ำถึงจุดแข็งของไทยด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะภาคพลังงานที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งทำให้ไทยมีความพร้อมที่จะเป็นฐานการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง (High Technology) อาทิ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ โดยเฉพาะการผลิตแผงวงจรพิมพ์ (PCB – printed circuit board) และอุตสาหกรรม Data Center ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในอนาคต
พร้อมกันนี้ ไทยยังมีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค (financial hub) ซึ่งผู้บริหาร Bank of America ได้ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ว่า การบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อผลิตบุคลากรที่มีทักษะสูงเพียงพอต่อความต้องการของภาคการเงิน รวมถึงการสร้างระบบนิเวศ (ecosystem) ที่เอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางทางการเงินอย่างครบวงจร
ในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นายพิชัย กล่าวว่า ไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับทั้งสหรัฐฯ และจีน ซึ่งต่างก็เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย และทั้งสองประเทศยังจำเป็นต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน ไทยมีจุดยืนเดียวกับอาเซียนในการรักษาความเป็นกลาง ส่งเสริมความร่วมมือที่สมดุลกับทุกฝ่าย เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางการค้า ไทยพร้อมที่จะส่งเสริมความร่วมมือกับคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน อย่างสมดุลเพื่อประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืน
สำหรับ Bank of America เป็นหนึ่งในสถาบันการเงินชั้นนำของโลก ปัจจุบันได้รับการจัดอันดับให้เป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลกตามมูลค่าตลาด รองจาก JPMorgan Chase โดยมีสำนักงานใหญ่ในสหรัฐฯ และดำเนินงานในกว่า 35 ประเทศทั่วโลก มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ