“พิชัย” ถก รมต.การค้าอาเซียน-เอเปค ณ เกาหลีใต้ ชงหยุดมาตรการกีดกัน ย้ำเสรีการค้าโลก
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ “พิชัย นริพทะพันธุ์” เข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรี ณ สาธารณรัฐเกาหลี ยืนยันจุดยืนอาเซียนสนับสนุนการค้าเสรี ชงทุกประเทศเลิกใช้มาตรการกีดกันทางการค้า ชี้โอกาสเจรจาคลี่คลายข้อพิพาท ย้ำไทยพร้อมดูแลผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โลก
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Ministerial Caucus) ซึ่งจัดขึ้นควบคู่กับการประชุมรัฐมนตรีด้านการค้าเอเปค (Ministers Responsible for Trade: MRT) ณ เมืองเชจู สาธารณรัฐเกาหลี การประชุมครั้งนี้เป็นการหารือร่วมกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจจากประเทศสมาชิกอาเซียนที่อยู่ในกลุ่มเอเปค ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และบรูไน เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน รวมถึงแนวทางความร่วมมือทางการค้าในภูมิภาค และการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาในช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังคงมีความไม่แน่นอนสูง
รัฐมนตรีพิชัย กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้ยืนยันจุดยืนร่วมกันของกลุ่มประเทศอาเซียนอย่างชัดเจน ในการสนับสนุนระบบการค้าเสรีที่เปิดกว้าง เป็นธรรม และอิงตามกฎเกณฑ์สากล นอกจากนี้ ยังได้มีข้อเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ หลีกเลี่ยงการนำมาตรการกีดกันทางการค้ามาใช้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของสินค้าและบริการ พร้อมทั้งมองว่า การที่สหรัฐอเมริกาได้ระงับมาตรการภาษีชั่วคราวเป็นเวลา 90 วัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการเจรจาอย่างสร้างสรรค์เพื่อคลี่คลายข้อพิพาททางการค้าที่เกิดขึ้น
รัฐมนตรีจากประเทศสมาชิกอาเซียนยังมีความเห็นพ้องกันว่า ความเป็นเอกภาพของภูมิภาคอาเซียน และการตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลก เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อาเซียนยังคงสามารถรักษาบทบาทที่โดดเด่นบนเวทีโลกได้ โดยจะเร่งผลักดันความร่วมมือเชิงรุก เช่น การยกระดับความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน (ATIGA) ให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจยุคใหม่ รวมถึงการเน้นย้ำความสำคัญของระบบการค้าพหุภาคี ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว
นายพิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของประเทศไทย รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ควบคู่ไปกับการดูแลผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบาง โดยได้เตรียมมาตรการสนับสนุนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ การพัฒนาองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็น รวมถึงการส่งเสริมการขยายตลาดส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) โดยเฉพาะความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)
ปัจจุบัน อาเซียนถือเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก มีประชากรรวมกันประมาณ 680 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 8.5 ของประชากรโลก และมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Nominal GDP) รวมกันประมาณ 3.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความสำคัญของภูมิภาคอาเซียนในฐานะผู้เล่นหลักบนเวทีเศรษฐกิจโลกยุคใหม่