ภูมิธรรมถึงเยอรมนี ร่วมประชุม UN จับตาหารือ ‘เครื่องยนต์เรือดำน้ำ’
กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี – เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม, พล.อ.อ.ธัชชัย อัจฉริยาการุณ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และคณะ ได้เดินทางถึงกรุงเบอร์ลิน เพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิบัติการรักษาสันติภาพภายใต้กรอบสหประชาชาติ ครั้งที่ 6 (United Nations Peacekeeping Ministerial: UNPKM 2025) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-14 พฤษภาคม 2568
การประชุม UNPKM 2025 ครั้งนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยจัดขึ้นในโอกาสครบรอบ 80 ปี การก่อตั้งสหประชาชาติ และครบรอบ 1 ทศวรรษของการประชุมสุดยอดผู้นำว่าด้วยการรักษาสันติภาพ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อหารือแนวทางในการพัฒนาการรักษาสันติภาพในอนาคต (Future of Peacekeeping) รวมถึงการเสริมสร้างความร่วมมือ การฝึกอบรม และการยกระดับขีดความสามารถของผู้ปฏิบัติภารกิจ
สำหรับท่าทีของประเทศไทย ได้ย้ำแนวคิดสันติภาพที่ยั่งยืน โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของความยืดหยุ่นในการปฏิบัติภารกิจ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของสตรี และการจัดสรรทรัพยากรที่เพียงพอ เพื่อให้ภารกิจรักษาสันติภาพสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที
ในระหว่างการเยือนเยอรมนี นายภูมิธรรมและคณะ ได้เข้าร่วมการหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของเยอรมนี เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 เวลา 10.25 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ กระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี โดยได้มีการหารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านกลาโหมและความมั่นคงระหว่างสองประเทศ ทั้งในระดับภูมิภาคและบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ คณะผู้แทนไทยยังได้เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมระดับสูง UNPKM 2025 ในช่วงบ่ายของวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 ณ กระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี โดยมีการหารือในหัวข้อสำคัญ อาทิ “การรักษาสันติภาพในอนาคต” (Future of Peacekeeping), “การปฏิรูปการรักษาสันติภาพเพื่อให้การปฏิบัติภารกิจปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” (Peacekeeping Reform: More Effective and Safer Peacekeeping) และ “มุมมองระดับโลกเกี่ยวกับการรักษาสันติภาพในอนาคต” (Global Perspectives on The Future of Peacekeeping)
วันที่ 14 พฤษภาคม 2568 นายภูมิธรรมและคณะ ได้เข้าร่วมการประชุมเต็มคณะเพื่อแสดงความมุ่งมั่น (Pledging Session) ในหัวข้อ “การฝึกอบรมและการเสริมสร้างขีดความสามารถ ความเป็นหุ้นส่วน และประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้อง” (Training and Capacity Building, Partnerships, Cross-Cutting Issues) ซึ่งเป็นการเน้นย้ำถึงบทบาทและความพร้อมของไทยในการมีส่วนร่วมในความมั่นคงโลก ก่อนจะเข้าร่วมการประชุมกลุ่มย่อยในหัวข้อ “ขีดความสามารถสำหรับรูปแบบภารกิจในปัจจุบันและอนาคต” (capabilities for Current and New Mission Models) ในช่วงบ่าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกเหนือจากการเข้าร่วมการประชุมและการหารือทวิภาคีตามกำหนดการแล้ว การเดินทางเยือนเยอรมนีของนายภูมิธรรมในครั้งนี้ ยังเป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเครื่องยนต์เรือดำน้ำของกองทัพเรือไทย เนื่องจากก่อนหน้านี้ นายภูมิธรรมเคยให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการประสานกับทางรัฐบาลและกระทรวงกลาโหมเยอรมนี ผ่านผู้ช่วยทูตทหารเยอรมนีประจำประเทศไทย เกี่ยวกับการขอซื้อเครื่องยนต์ดีเซลรุ่น MTU 396 เพื่อนำมาติดตั้งในเรือดำน้ำที่สั่งซื้อจากประเทศจีน จึงเกิดคำถามว่าประเด็นดังกล่าวจะถูกหยิบยกขึ้นมาหารืออย่างเป็นทางการหรืออย่างไม่เป็นทางการในระหว่างการเยือนครั้งนี้หรือไม่ ท่ามกลางความคาดหวังต่อทางออกของโครงการเรือดำน้ำที่ยังคงเป็นประเด็นสำคัญ