เดินหน้าโครงการกระเช้าภูกระดึง! อนุมัติงบออกแบบ 25.7 ล้าน เล็งจุดใหม่ ‘ผาหมากดูก’ พร้อมแนวคิด ‘รถรางไฟฟ้า’ อำนวยความสะดวกบนยอดภู
เลย – สำนักงบประมาณได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 25.7 ล้านบาท ให้แก่คณะกรรมการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการออกแบบรายละเอียดด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม และสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติชื่อดังของจังหวัดเลย ถือเป็นการเดินหน้าขั้นตอนสำคัญของโครงการที่ถูกกล่าวถึงมาอย่างยาวนาน
ล่าสุด นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าในเรื่องนี้ว่า ทาง อพท. ได้เข้ามาหารือกับกรมอุทยานฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อวางโรดแมปการก่อสร้างกระเช้าภูกระดึง โดยเน้นย้ำในเรื่องขั้นตอนการขออนุญาต การบริหารจัดการ และการออกแบบรายละเอียดที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อพื้นที่ธรรมชาติให้น้อยที่สุด ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาและออกแบบรายละเอียด ยังไม่ได้มีการอนุมัติการก่อสร้างแต่อย่างใด
อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า ในการศึกษาออกแบบ มีการนำเสนอเทคโนโลยีการสร้างกระเช้าจากหลายประเทศในทวีปยุโรป เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน และเยอรมนี โดยมีแนวคิดที่จะสร้างจุดขึ้น-ลงบริเวณ ผาหมากดูก ซึ่งไม่ใช่จุดเริ่มต้นทางขึ้น-ลงในปัจจุบัน คาดการณ์ระยะทางของกระเช้าจะไม่เกิน 3 กิโลเมตร โดยเทคโนโลยีที่นำเสนอส่วนใหญ่เป็นแบบใหม่ที่ใช้เสาเพียงแท่งเดียว ทำให้กินพื้นที่และกระทบพันธุ์ไม้ในพื้นที่น้อย
สำหรับแผนการดำเนินงาน แบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดยในเฟสแรกจะเป็นการก่อสร้างระบบกระเช้าไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ส่วนเฟสที่ 2 จะเป็นการบริหารจัดการพื้นที่ด้านบนภูกระดึง และพื้นที่ด้านล่างที่จะต้องมีการพัฒนาจุดบริการนักท่องเที่ยวเพิ่มเติม เพื่อรองรับจำนวนผู้มาใช้บริการกระเช้า
นายอรรถพล กล่าวถึงความท้าทายในการบริหารจัดการพื้นที่ด้านบนว่า ระยะทางจากบริเวณผาหมากดูกถึงผาหล่มสัก ซึ่งเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญ มีระยะทางไกลถึงประมาณ 10 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวที่ใช้บริการกระเช้า โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ อาจไม่สะดวกในการเดินเท้าเป็นระยะทางไกลเช่นนี้ ดังนั้น กรมอุทยานฯ จึงมีแนวคิดที่จะเพิ่มการให้บริการ รถรางไฟฟ้าขนาดเล็ก บนจุดท่องเที่ยวด้านบน โดยอาจมีการปรับปรุงเส้นทางเดิมบางส่วนด้วยการใช้คอนกรีตหรือดินเพื่อให้รถรางสามารถวิ่งได้ แต่จะไม่ใช่การสร้างถนนถาวร เพื่อให้กลมกลืนกับสภาพธรรมชาติและลดผลกระทบต่อพื้นที่ให้ได้มากที่สุด
ในด้านการรับฟังความคิดเห็นประชาชน อธิบดีกรมอุทยานฯ ยืนยันว่า โครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึงได้รับเสียงคัดค้านน้อยมาก และผลการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยเกือบทั้งหมด นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร ก็ได้มีการสอบถามถึงความคืบหน้าในการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่บางส่วนที่มีความเสี่ยงอันตรายจากช้างป่าซึ่งมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น อาจจะต้องพิจารณาปิดพื้นที่ถาวร เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวและสัตว์ป่า