รมว.วัฒนธรรม ลงพื้นที่นครพนม ติดตามความคืบหน้า ‘พระธาตุพนม’ เตรียมเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลก
นครพนม – นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วย นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร กรมการศาสนา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ตรวจราชการที่จังหวัดนครพนม ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2568 ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร
ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและคณะ ได้เข้าร่วมพิธีถวายเครื่องสักการะและแห่ผ้าห่มองค์พระธาตุพนม เพื่อความเป็นสิริมงคล จากนั้นได้เข้ากราบนมัสการพระครูศรีพนมวรคุณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส และพระศรีวิสุทธิเมธี รองเจ้าคณะจังหวัดนครพนม ผู้ช่วยเจ้าอาวาส
นอกจากนี้ คณะยังได้พบปะผู้แทนส่วนราชการ หน่วยงานท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ รวมถึงเยี่ยมชมกิจกรรมและนิทรรศการต่างๆ ที่จัดขึ้น อาทิ นิทรรศการตำนานอุรังคธาตุ นิทรรศการประเพณีบุญเดือน 3 นิทรรศการผ้าเกาะโส้ และนิทรรศการเส้นทางท่องเที่ยวสักการะพระธาตุประจำวันเกิด 7 วัน 8 พระธาตุ พร้อมทั้งได้ชมและชิมอาหารพื้นถิ่น รวมถึงผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของชุมชนหลากหลายชนิด เช่น ขนมแหนม กะละแมนครพนม เครื่องดื่มสมุนไพร ผลิตภัณฑ์จากดอกดาวเรืองที่ใช้สักการะพระธาตุ ผลิตภัณฑ์จักสาน ผ้าทอลวดลายโบราณ ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติจากไม้มงคล 9 ชนิด และผลิตภัณฑ์จากผ้าห่มพระธาตุพนม ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ของท้องถิ่น
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล กล่าวว่า การลงพื้นที่จังหวัดนครพนมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อตรวจเยี่ยมและติดตามแนวทางการพัฒนาแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ‘วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร’ ซึ่งเป็นปูชนียสถานที่สำคัญและได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เน้นย้ำถึงความสำคัญของพระธาตุพนมในฐานะศาสนสถานที่มีคุณค่าโดดเด่นและเป็นสากล ตามความเชื่อพื้นถิ่นเชื่อว่าประดิษฐานพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นับเป็นพระธาตุที่เก่าแก่แห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้ และเป็นศูนย์รวมศรัทธาของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติมานานหลายร้อยปี
ประเด็นสำคัญของการลงพื้นที่คือ การขับเคลื่อนกระบวนการเสนอ ‘วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร’ เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมขององค์การยูเนสโก ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์โบราณสถาน โดยปัจจุบันพระธาตุพนมได้รับการบรรจุในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลกแล้ว ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2560
ขั้นตอนต่อไปของการนำเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลกคือ การจัดทำผังแม่บทที่ครอบคลุมพื้นที่หลักและพื้นที่กันชน (Buffer Zone) ตามหลักเกณฑ์ของยูเนสโก เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรอบคอบและได้มาตรฐานสากล
ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมยังได้หารือกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อขอการสนับสนุนโครงการต่างๆ ที่จำเป็นต่อกระบวนการขึ้นทะเบียนมรดกโลก เช่น โครงการสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดทำผังแม่บทพื้นที่วัดพระธาตุพนมและบริเวณโดยรอบ รวมถึงการจัดประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการเสนอขึ้นทะเบียนพระธาตุพนมเป็นมรดกโลก และการขอคำปรึกษาจากผู้ทรงคุณวุฒิ
นางสาวสุดาวรรณ กล่าวทิ้งท้ายว่า ‘พระธาตุพนม’ มีศักยภาพและคุณสมบัติที่เข้าเกณฑ์การขึ้นทะเบียนมรดกโลกของยูเนสโกอย่างน้อย 3 เกณฑ์ ได้แก่ เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลในการพัฒนาสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม (เกณฑ์ที่ 2), เป็นหลักฐานทางวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่โดดเด่น (เกณฑ์ที่ 3), และมีความเชื่อหรือเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องโดยตรง (เกณฑ์ที่ 6) ซึ่งเป็นการยืนยันถึงคุณค่าและความสำคัญระดับโลกของพระธาตุพนม