เปิดตำนาน ‘พระกริ่ง 7 รอบ’ วัดบวรนิเวศวิหาร พระกริ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเททองด้วยพระองค์เอง

“พระกริ่งพระพุทธชินสีห์” หรือ “พระกริ่ง 7 รอบ” พระกริ่งยอดนิยมวัดบวรนิเวศวิหาร นับเป็นพระกริ่งหนึ่งเดียวที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ เททองด้วยพระองค์เอง ขณะทรงผนวชอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

สร้างเมื่อวันที่ 3 พ.ย.2499 ในโอกาสฉลองพระชนมายุครบ 7 รอบ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 13 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร พระราชอุปัธยาจารย์ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จออกผนวชในปี พ.ศ.2499

พระกริ่งดังกล่าวตั้งพระนามตามพระพุทธรูปสำคัญของวัดบวรฯ คือ พระพุทธชินสีห์ ส่วนนาม “พระกริ่ง 7 รอบ” มาจากการจัดสร้างเนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุครบ 7 รอบ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ นั่นเอง สร้างโดยช่างมนตรี พัฒนางกูร แห่งบ้านช่างหล่อ

มีพุทธศิลปะแบบสุโขทัย องค์พระพุทธปฏิมาแสดงปางมารวิชัย ประทับนั่งเหนืออาสนะฐานบัวเล็บช้าง ด้านหลังองค์พระมีบัว 2 คู่ เอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือ ด้านล่างของบัวคู่หลังนั้นจะปรากฏเลขไทย “๗” เป็นตัวจมอยู่อย่างชัดเจน องค์พระส่วนใหญ่จะไม่มีการแต่งและตอกโค้ดใดๆ ทั้งสิ้น และเป็นการเทหล่อแบบเทตัน แล้วนำมาเจาะใต้ฐาน (ก้น) ขนาดเท่ารูแท่งดินสอ บรรจุ เม็ดกริ่ง แล้วอุดด้วยโลหะ แต่งตะไบ ขัดเรียบจนไม่เห็นรอยตะไบ

เนื้อองค์พระเป็นโลหะผสม มี 2 กระแสคือ กระแสเนื้อออกแดง และเนื้อออกเหลือง มีจำนวนการสร้างเพียง 500 องค์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *