พิชัย ลั่นดัน ‘ข้าวหอมมะลิอินทรีย์นครพนม’ สู่ตลาดโลก ชี้ FTA EU เพิ่มโอกาสมหาศาล
นครพนม – นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการลงพื้นที่จังหวัดนครพนม ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ว่า ได้มีการหารือกับผู้ประกอบการและกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ในพื้นที่ เพื่อรับฟังปัญหาและหาแนวทางส่งเสริมตลาดสินค้าเกษตร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
การประชุมครั้งนี้จัดขึ้น ณ บริษัทข้าวสุข นครพนม จำกัด อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2568 โดยมีผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วน ทั้งสภาอุตสาหกรรมจังหวัด หอการค้า กลุ่ม Young Smart Farmer เครือข่าย Moc Biz Club กลุ่ม YEC และวิสาหกิจชุมชนต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์และแนวทางการพัฒนาสินค้าเกษตรสำคัญของจังหวัด เช่น ข้าวหอมมะลิ มันสำปะหลัง และสินค้าอัตลักษณ์ (GI) อาทิ สับปะรดท่าอุเทน และลิ้นจี่นครพนม ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ให้การส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง
นายพิชัยกล่าวย้ำถึงความจำเป็นในการพัฒนาสินค้าเกษตรไทยให้มีมูลค่าสูงขึ้น สามารถขายได้ในราคาที่ดีขึ้นในตลาดโลก โดยเฉพาะในภาวะที่ตลาดมีความผันผวน จำเป็นต้องเร่งสร้างแบรนด์สินค้าเกษตรไทยที่มีจุดเด่นให้เป็นที่รู้จักในเวทีสากล เพื่อเพิ่มมูลค่าและกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดหลักเพียงประเทศเดียว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับสินค้าข้าวอินทรีย์คุณภาพสูงของนครพนม ซึ่งมีศักยภาพในการเติบโตสูงมาก เช่น ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวฮางงอก และข้าวกล้อง โดยกระทรวงฯ พร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ตั้งแต่การเชื่อมโยงเกษตรกรกับผู้ส่งออกโดยตรง การบุกเบิกตลาดใหม่ๆ รวมถึงการผลักดันให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสเข้าร่วมงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ เช่น งาน BIOFACH ที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอินทรีย์ชั้นนำของโลก และงาน Thaifex – Anuga Asia ที่จัดขึ้นในประเทศไทย
สำหรับสินค้า GI ของจังหวัดอย่างสับปะรดท่าอุเทนและลิ้นจี่นครพนม ซึ่งกำลังออกผลผลิตในช่วงนี้ กระทรวงฯ ได้ประสานงานเพื่อเชื่อมโยงช่องทางการตลาด ทั้งกับผู้ประกอบการในพื้นที่และส่งเสริมการกระจายผลผลิตไปยังภูมิภาคอื่นๆ โดยได้มอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครพนมทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชน เครือข่าย MOC BIZ Club และกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้การจำหน่ายสินค้าเป็นไปอย่างราบรื่นและต่อเนื่อง
นายพิชัยแสดงความเชื่อมั่นในศักยภาพของข้าวหอมมะลิอินทรีย์ของไทย โดยระบุว่า ข้าวอินทรีย์นั้นปลอดภัยต่อสุขภาพและเป็นที่ต้องการสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง และหากการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรป (EU) ประสบความสำเร็จได้ ความต้องการข้าวอินทรีย์จากไทยจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือสินค้าต้องมีระบบตรวจสอบย้อนกลับได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในต่างประเทศ