พีระพันธุ์ ยันชัด! ประมูลไฟ 5200 MW ทำตาม ก.ม. พบทุจริต ยกเลิกสัญญาได้ทันที ไม่ต้องรอ 25 ปี

น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีการประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาด 5,200 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นข้อซักถามของฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร โดยยืนยันว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ตอบประเด็นดังกล่าวอย่างครบถ้วนแล้ว และยืนยันการดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย

โครงการประมูลไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนนี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2565 ในสมัยรัฐบาลที่ผ่านมา ในรอบแรกมีการประมูลขนาด 5,200 เมกะวัตต์ แต่หลังจากประมูลเสร็จสิ้น ผู้ที่ไม่ได้รับการคัดเลือกได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ทำให้กระบวนการเซ็นสัญญาต้องชะลอออกไป ล่าสุด ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำวินิจฉัยยกฟ้องในทุกกรณีแล้ว จึงไม่มีข้อกฎหมายใด ๆ ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการลงนามในสัญญาอีกต่อไป

ดังนั้น การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง จึงเริ่มทยอยดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีเงื่อนไขกำหนดให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องลงนามในสัญญาภายในระยะเวลา 2 ปี โดยในส่วนของสัญญาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จะครบกำหนดในวันที่ 18 เมษายน 2568 ส่วนสัญญาพลังงานลมจะครบกำหนดภายในปี 2569

น.ส.ศศิกานต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประมูลเฟสแรกขนาด 5,200 เมกะวัตต์ มีการดำเนินการประมูลจริงที่ 4,852 เมกะวัตต์ มีสัญญาทั้งสิ้น 175 ฉบับ โดยเป็นโครงการที่ กฟผ. เกี่ยวข้อง 83 โครงการ และได้มีการเซ็นสัญญาไปแล้ว 67 โครงการ ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2565

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า เนื่องจากมีการลงนามสัญญาไปแล้ว 67 ฉบับ หากยกเลิกหรือชะลอการเซ็นสัญญาส่วนที่เหลือ อาจจะทำให้เกิดปัญหาข้อกฎหมายได้ สำหรับโครงการที่ยังไม่ได้ลงนามอีก 16 โครงการ การหยุดกระบวนการทันทีก็จะเกิดปัญหาทางกฎหมายเช่นกัน เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนที่มีการดำเนินการล่วงหน้าแล้ว

กฤษฎีกาจึงแนะนำให้ กฟผ. เพิ่มเงื่อนไขในสัญญาเพิ่มเติมว่า หากภายหลังพบว่าการประมูลมีปัญหาทางกฎหมายหรือผิดขั้นตอนใด ๆ สามารถยกเลิกสัญญาได้ โดยไม่ต้องรอให้ครบอายุสัญญา 25 ปี

น.ส.ศศิกานต์ ย้ำว่า สัญญา 3 ฉบับที่ กฟผ. ลงนามไปเมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมา จึงเป็นการดำเนินการตามเงื่อนไขที่ต้องลงนามภายใน 2 ปี และมีการปรับเงื่อนไขของสัญญาตามคำแนะนำของกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว จึงขอให้ประชาชนวางใจได้ว่า การเซ็นสัญญาครั้งนี้จะไม่เป็นข้อผูกมัดไป 25 ปี หากพบว่ามีการกระทำผิดสามารถยกเลิกสัญญาได้ทันที

สำหรับสัญญาอีก 16 ฉบับที่เหลือ นายพีระพันธุ์ ได้หารือกับผู้ว่าการ กฟผ. เพื่อหาช่องทางทางกฎหมายในการชะลอการลงนาม เพื่อให้มีเวลาตรวจสอบประเด็นที่สังคมกังวลอย่างรอบคอบ โดยส่วนใหญ่เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมซึ่งจะครบกำหนดในปี 2569 ขณะนี้ ผู้ว่าการ กฟผ. กำลังตรวจสอบข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางดำเนินการให้สอดคล้องกับกรอบอำนาจที่มี

“ยืนยันว่า หากมีหลักฐานหรือข้อเท็จจริงใหม่ที่แสดงให้เห็นว่าโครงการใดผิดกฎหมาย หรือไม่ชอบด้วยขั้นตอน สามารถยกเลิกสัญญาได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ครบอายุสัญญา 25 ปี รัฐบาลจะดำเนินการทุกอย่างที่ทำได้เพื่อให้ถูกต้อง โปร่งใส และเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย” น.ส.ศศิกานต์ กล่าวย้ำ และขอให้การนำเสนอข้อกล่าวหาเป็นไปอย่างรอบคอบ และยึดข้อเท็จจริง มิใช่การบิดเบือนเพื่อหวังผลทางการเมือง

นอกจากนี้ น.ส.ศศิกานต์ ยังชี้แจงว่า เรื่องนี้ไม่ใช่อำนาจของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานโดยตรง แต่เป็นเงื่อนไขที่กำหนดโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2565 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไม่มีอำนาจใน กกพ. เลย ส่วน กฟผ. นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมีอำนาจแค่กำกับดูแล จึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญในเชิงโครงสร้างที่ต้องมีการแก้ไขต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *