ปภ. พอใจผลทดสอบ Cell Broadcast ครั้งแรก ‘ฉลุย’ แจ้งเตือนพร้อมกัน 3 ค่าย เตรียมทดสอบใหญ่ ก.ค. นี้

ปภ. พอใจผลทดสอบ Cell Broadcast ครั้งแรก ‘ฉลุย’ แจ้งเตือนพร้อมกัน 3 ค่าย เตรียมทดสอบใหญ่ ก.ค. นี้

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เผยผลทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ Cell Broadcast ระดับเล็กครั้งแรก ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั้ง 3 เครือข่ายในพื้นที่ทดสอบ ได้รับการแจ้งเตือนภัยในเวลาไล่เลี่ยกันภายใน 1 นาที เตรียมเดินหน้าทดสอบระดับกลางและใหญ่ พร้อมทดสอบทั่วประเทศ 77 จังหวัด ก่อนใช้งานจริงเต็มรูปแบบภายในเดือนกรกฎาคมนี้

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 2 พฤษภาคม 2568 ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นประธานและร่วมสังเกตการณ์การทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ Cell Broadcast (CBS) ในระดับเล็ก โดยจำลองสถานการณ์อุทกภัยและน้ำป่าไหลหลาก ครอบคลุม 5 พื้นที่เป้าหมายภายในอาคารราชการ ได้แก่ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย, ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี, ศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี, ศาลากลางจังหวัดสงขลา และศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ อาคาร A และ B

นายภาสกร เปิดเผยว่า การทดสอบในครั้งนี้เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ โดยเริ่มจากการรายงานสถานการณ์จากหัวหน้าชุดปฏิบัติการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ไปยังผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการเตือนภัย เพื่อขออนุมัติแจ้งเตือนผ่านระบบ Cell Broadcast จากนั้นจึงขออนุมัติต่ออธิบดี ปภ. และเมื่อได้รับอนุมัติแล้ว หัวหน้าชุดปฏิบัติการฯ และผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการฯ จะแจ้งผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ค่าย เพื่อยืนยันการส่งข้อความแจ้งเตือน ซึ่งผู้ให้บริการจะส่งข้อความไปยัง 5 พื้นที่ทดสอบ โดยข้อความจะปรากฏบนหน้าจอโทรศัพท์เป็นเวลา 10 นาที

หลังจากเสร็จสิ้นการทดสอบระดับเล็ก นายภาสกร ได้สอบถามผลการรับสัญญาณจากทั้ง 5 พื้นที่ทดสอบ ซึ่งผลปรากฏว่าผู้ใช้โทรศัพท์มือถือของทั้ง 3 เครือข่ายในทุกพื้นที่ ได้รับสัญญาณแจ้งเตือนและข้อความในเวลาที่ใกล้เคียงกันมาก โดยใช้เวลาไม่ถึง 1 นาที พร้อมทั้งเสียงสัญญาณและน้ำเสียงที่ชัดเจน

อธิบดี ปภ. กล่าวแสดงความพอใจต่อผลการทดสอบครั้งแรกนี้ โดยระบุว่าถือเป็นความสำเร็จที่น่าพอใจ ประชาชนได้รับการแจ้งเตือนในเวลาใกล้เคียงกันมาก ระบบสามารถทำงานได้ดีในพื้นที่เป้าหมาย แม้จะมีสัญญาณบางส่วนล้ำออกไปในรัศมีใกล้เคียงประมาณ 1.5 กิโลเมตร เนื่องจากข้อจำกัดของสัญญาณเครือข่ายในบางพื้นที่ภูมิภาค

สำหรับแผนการทดสอบในลำดับถัดไป จะมีการทดสอบระบบ Cell Broadcast อีก 2 ครั้ง ในวันที่ 7 พฤษภาคม เวลา 13.00 น. เป็นการทดสอบระดับกลาง ครอบคลุม 5 พื้นที่ ได้แก่ อำเภอเมืองลำปาง, อำเภอเมืองนครราชสีมา, อำเภอเมืองนครสวรรค์, อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี และเขตดินแดง กรุงเทพมหานคร

และครั้งที่ 3 ในวันที่ 13 พฤษภาคม เวลา 13.00 น. จะเป็นการทดสอบส่งแจ้งเตือนในระดับใหญ่สูงสุด เต็มพื้นที่ใน 5 จังหวัด คือ เชียงใหม่, อุดรธานี, พระนครศรีอยุธยา, นครศรีธรรมราช และกรุงเทพมหานคร

นายภาสกร กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบ Cell Broadcast ที่ทดสอบนี้ รองรับโทรศัพท์มือถือระบบปฏิบัติการ Android เวอร์ชั่น 11 ขึ้นไป และ iOS เวอร์ชั่น 18 ขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันคาดว่ามีผู้ใช้กลุ่มนี้อยู่เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ยังใช้โทรศัพท์หรือเครือข่าย 2G และ 3G ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3 ล้านเลขหมาย จะไม่ได้รับการแจ้งเตือนผ่านระบบ Cell Broadcast โดยตรง แต่จะได้รับข้อความแจ้งเตือนภัยผ่านทาง SMS แทน ซึ่งจะได้รับภายใน 10 นาทีหลังจากส่งสัญญาณ Cell Broadcast โดย ปภ. จะดำเนินการแจ้งเตือนทั้งสองระบบควบคู่กันไป เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลครบถ้วน

อธิบดี ปภ. ยืนยันว่า ระบบแจ้งเตือนภัย Cell Broadcast จะมีความสมบูรณ์และพร้อมใช้งานได้เต็มรูปแบบภายในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยก่อนหน้านั้น ปภ. จะมีการทดสอบระบบครั้งใหญ่ใน 77 จังหวัดพร้อมกันทั่วประเทศอีกครั้ง เพื่อตรวจสอบความพร้อมและประสิทธิภาพของระบบในภาพรวม ก่อนเปิดใช้งานจริง

เมื่อถูกถามถึงข้อกังวลว่าผู้ที่ไม่เคยได้ยินเสียงแจ้งเตือนอาจจะตกใจ นายภาสกร กล่าวว่า ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้าแล้ว มั่นใจว่าทุกคนจะรับทราบข้อมูล และเห็นว่าระบบนี้เป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพสูงและจำเป็นอย่างยิ่งในการแจ้งเตือนภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็ว

สำหรับกระบวนการแจ้งเตือนในกรณีฉุกเฉิน เช่น น้ำป่าไหลหลาก นายภาสกร อธิบายว่า ปภ. ในฐานะหน่วยกลางตาม พ.ร.บ.การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 มีข้อปฏิบัติหลัก (SOP) ในการรับข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา (ดินฟ้าอากาศ), กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว (แผ่นดินไหว), กรมทรัพยากรธรณี, กรมทรัพยากรน้ำ, สทนช., กรมชลประทาน ที่มีผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือตรวจวัด เมื่อได้รับข้อมูลมาแล้ว ปภ. จะวิเคราะห์และดำเนินการกระจายข่าว หากเป็นกรณีฉุกเฉินหรือรุนแรงที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน จะสามารถใช้ระบบ Cell Broadcast ส่งข้อความแจ้งเตือนถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็วทันที

นายภาสกร กล่าวย้ำว่า หลังจากทดสอบครบทั้ง 3 ระดับแล้ว ปภ. จะเชื่อมโยงระบบเข้ากับศูนย์ Cell Broadcast ของผู้ให้บริการทั้ง 3 ค่ายโดยตรง ซึ่งในอนาคต ปภ. จะเป็นผู้กดส่งสัญญาณจากส่วนกลางเอง ทำให้กระบวนการรวดเร็วยิ่งขึ้น ข้อมูลจะส่งถึงประชาชนได้ภายในเวลาไม่เกิน 1 นาที พร้อมสรุปว่า ประเทศไทยกำลังจะมีระบบแจ้งเตือนภัยที่ทันสมัยไม่แพ้ประเทศใดในโลก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับภัยพิบัติและดูแลความปลอดภัยของประชาชน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *