ผู้ออกแบบรัฐสภา ยื่นค้านปรับปรุงใหญ่ หวั่นกระทบโครงสร้าง ทำอากาศไม่ไหลเวียน เตือนระวังน้ำท่วมหากขุดใต้ดิน

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 8 พฤษภาคม 2568 ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา นำโดย นายชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ สว. ในฐานะรองประธานกมธ. ได้รับหนังสือจาก นายชาตรี ลดาลลิตสกุล ศิลปินแห่งชาติ และในฐานะหัวหน้าสถาปนิกผู้ออกแบบอาคารรัฐสภา เพื่อขอคัดค้านการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบของอาคารรัฐสภา

นายชาตรี ลดาลลิตสกุล กล่าวแสดงความกังวลและขอคัดค้านการที่รัฐสภาได้จัดทำงบประมาณเพื่อปิด สระมรกต สร้างเป็นห้องสมุดและร้านค้า โดยอ้างเหตุผลเรื่องปัญหาน้ำรั่วซึมและน้ำเน่ายุงชุม ซึ่งนายชาตรียืนยันว่า สระมรกตถูกออกแบบให้มีระบบกรองแบบสระว่ายน้ำ หากดูแลตามมาตรฐานน้ำจะไม่เน่าหรือมีปัญหายุง ส่วนเรื่องน้ำรั่วซึมนั้น เป็นความรับผิดชอบของผู้รับเหมาที่ยังอยู่ในระยะประกันผลงาน ไม่ควรนำปัญหานี้มาเป็นเหตุผลในการปรับปรุง

สำหรับการย้ายห้องสมุดจากชั้น 9-10 ลงมาบริเวณสระมรกตนั้น นายชาตรีมองว่าไม่สมเหตุสมผลและสิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็น เพราะห้องสมุดเดิมใช้งบกว่า 100 ล้านบาท และยังไม่ได้ใช้งานเต็มที่ อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวเชื่อมโยงกับหอจดหมายเหตุ การย้ายมาบริเวณสระมรกตซึ่งใกล้เคียงกับอาคารอาจกระทบกับ โครงสร้าง เดิมที่ออกแบบไว้ได้ เนื่องจากห้องสมุดมีน้ำหนักมาก นอกจากนี้ หากต้องการให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย ควรสร้างนอกอาคารรัฐสภามากกว่า

นายชาตรียังคัดค้านการถมพื้นที่สระมรกตอย่างชัดเจน โดยชี้แจงว่า การออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่นั้น มุ่งเน้นให้เป็นอาคารประหยัดพลังงานระดับดีเด่น อาศัยหลักการ ไหลเวียนของอากาศ ตามธรรมชาติ ออกแบบให้ตัวอาคารมีช่องลมในทุกทิศทาง เพื่อให้ลมพัดความร้อนออกจากอาคาร สร้างสภาวะน่าสบายภายในโถงอาคาร แม้อากาศภายนอกจะร้อนจัด การถมสระเพื่อทำห้องสมุดจะทำให้ต้องปิดช่องลมและใช้ระบบปรับอากาศเต็มรูปแบบ ซึ่งจะสิ้นเปลืองงบประมาณทั้งค่าติดตั้งและค่าไฟฟ้ามหาศาลในระยะยาว

ในส่วนของ ศาลาแก้ว ที่มีแผนขอปรับปรุงใช้งบประมาณจำนวนมาก นายชาตรีก็ขอคัดค้านเช่นกัน โดยระบุว่าศาลาแก้วถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในงานพิธีสำคัญ และสามารถใช้งานได้จริงโดยไม่ต้องติดเครื่องปรับอากาศ เนื่องจากมีผ้าใบเคลือบอะลูมิเนียมสะท้อนความร้อน สามารถเลื่อนปิดได้ด้วยระบบไฟฟ้า และช่องว่างระหว่างผ้าใบกับกระจกทำหน้าที่เป็น ฉนวนกันความร้อน ขณะเดียวกันตำแหน่งที่ตั้งก็อยู่ในที่โล่ง มีสระน้ำโดยรอบช่วยลดอุณหภูมิ

นายชาตรีกล่าวเพิ่มเติมถึงปัญหาการก่อสร้างที่พบว่า แม้การออกแบบเดิมใช้งบประมาณ 11,000 กว่าล้านบาท แต่เมื่อมีการปรับแบบใช้งบเพิ่มเป็น 12,000 กว่าล้านบาท และยังมีโครงการที่อยู่นอกสัญญาหลักอีกหลายรายการ ซึ่งตนไม่เห็นด้วยในหลายประเด็น และไม่ได้มีส่วนร่วมในการตรวจรับงานในช่วง 3-4 เดือนสุดท้ายก่อนรับมอบ แม้รัฐในฐานะเจ้าของมีสิทธิ์ปรับเปลี่ยน แต่ในฐานะผู้ออกแบบ ก็ขอให้มีการเคารพผลงานและปรึกษาหารือก่อน

ประเด็นสุดท้ายคือกังวลว่าการก่อสร้างที่จอดรถใต้ดินเพิ่ม อาจส่งผลกระทบเรื่อง น้ำท่วม แม้อาคารรัฐสภาปัจจุบันจะมีระบบป้องกันน้ำท่วมใต้ดินถึงระดับ 4 เมตร ซึ่งเพียงพอสำหรับระดับน้ำท่วมใหญ่ในอดีต (ปี 2554 ระดับ 2.5 เมตร) แต่พื้นที่บริเวณถนนสามเสนโดยรอบนั้นต่ำกว่า และถึงแม้รัฐสภาจะมีประตูกันน้ำ แต่การขุดเจาะเพิ่มเติมอาจมีความเสี่ยง นายชาตรีย้ำว่าในการออกแบบเดิมทราบว่าที่จอดรถไม่เพียงพอ และเคยประสานขอใช้พื้นที่กับหน่วยงานข้างเคียงแล้วแต่ไม่ได้รับการตอบสนอง

นายชาตรีทิ้งท้ายว่า งานออกแบบอาคารรัฐสภามิได้สร้างขึ้นเพื่อการใช้งานเพียงอย่างเดียว แต่มีเป้าหมายให้เป็นปฏิมากรรมสัญลักษณ์ที่แสดงถึงภูมิปัญญาสถาปัตยกรรมไทย และเป็นภาพจำของความเป็นไทยร่วมสมัยในเวทีโลก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *