นักวิทย์ผงะ! ลิงคาปูชินบนเกาะปานามา ‘ลักพาตัว’ ลูกลิงฮาวเลอร์…ปรากฏการณ์สุดแปลกไม่เคยพบมาก่อน
นักวิทยาศาสตร์กำลังจับตาดูปรากฏการณ์สุดแปลกที่ไม่เคยพบมาก่อน บนเกาะแห่งหนึ่งนอกชายฝั่งประเทศปานามา เมื่อลิงคาปูชินหน้าขาววัยรุ่นแสดงพฤติกรรม ‘ลักพาตัว’ ลูกลิงฮาวเลอร์ต่างสายพันธุ์ไปจากพ่อแม่โดยไม่มีเหตุผลชัดเจน ซึ่งนำมาซึ่งความสับสนและความกังวลอย่างยิ่งต่อชะตากรรมของลูกลิงที่ถูกพรากไป
สื่อต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 ถึงพฤติกรรมสุดประหลาดของลิงคาปูชินเพศผู้วัยรุ่นบนเกาะฮิการอน นอกชายฝั่งประเทศปานามา ที่เริ่มทำพฤติกรรม ‘ลักพาตัวลูกลิงฮาวเลอร์’ ไปจากครอบครัวของพวกมัน โดยนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า นี่เป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกพฤติกรรมของสัตว์ที่ขโมยลูกของสัตว์ต่างสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน
ปรากฏการณ์นี้ถูกสังเกตพบครั้งแรกโดย โซอี้ โกลด์สโบโร (Zoe Goldsborough) นักศึกษาปริญญาเอก จากสถาบันศึกษาพฤติกรรมสัตว์ที่ประเทศเยอรมนี ในปี 2022 (พ.ศ. 2563) ขณะที่เธอกำลังตรวจสอบภาพจากกล้องตรวจจับความเคลื่อนไหวที่ติดตั้งไว้บนเกาะ เธอกล่าวว่ารู้สึกตกใจเป็นอย่างมากเมื่อเห็นภาพลิงคาปูชินหน้าขาวกำลังแบกลูกลิงฮาวเลอร์ตัวเล็กๆ ไว้บนหลัง
ลิงคาปูชินตัวแรกที่แสดงพฤติกรรมนี้ถูกตั้งชื่อเล่นว่า เจ้า “โจ๊กเกอร์” เนื่องจากมีรอยแผลเล็กๆ ที่มุมปากคล้ายตัวละครดังในภาพยนตร์ จากการตรวจสอบภาพวิดีโอเพิ่มเติม ทีมวิจัยพบว่าเจ้า “โจ๊กเกอร์” เคยแบกลูกลิงฮาวเลอร์มาแล้วถึง 4 ตัว
ในตอนแรก นักวิจัยคิดว่าอาจเป็นเพียงกรณีพิเศษที่น่าสนใจ เหมือนการรับเลี้ยงลูกต่างสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นได้ยากในธรรมชาติ แต่ไม่นานพวกเขาก็เริ่มพบพฤติกรรมคล้ายกันจากลิงคาปูชินตัวอื่นๆ ตามมา ตลอดช่วงเวลา 15 เดือน ทีมวิจัยพบว่ามีลิงคาปูชินอย่างน้อย 5 ตัว ที่เคยอุ้มลูกลิงฮาวเลอร์ถึง 11 ตัวที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้สถานการณ์นี้ดูแปลกและน่ากังวลมากยิ่งขึ้น
หลักฐานจากภาพวิดีโอที่แสดงถึงเสียงร้องเรียกของพ่อ-แม่ลิงฮาวเลอร์ที่ดูโศกเศร้า ยืนยันชัดเจนว่าลูกลิงเหล่านั้นถูกลักพาตัวไปจริง ๆ ไม่ใช่การถูกรับเลี้ยง
กระแสสังคมชั่วคราวที่แฝงด้วยความอันตราย
สิ่งที่สร้างความสับสนให้กับนักวิจัยคือ ลิงคาปูชินเหล่านี้ไม่ได้กินหรือทำร้ายลูกลิงฮาวเลอร์ที่ลักพามา และก็ไม่ได้แสดงพฤติกรรมเหมือนกำลังเล่นสนุกแต่อย่างใด พฤติกรรมทั้งหมดดูเหมือนจะไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน ทำให้เกิดคำถามมากมายว่าทำไปเพื่ออะไร
ในที่สุด ทีมวิจัยก็เริ่มเชื่อว่า การลักพาตัวลูกลิงฮาวเลอร์เหล่านี้ อาจเป็นเพียง “ธรรมเนียมทางสังคม” หรือ “กระแสสังคมชั่วคราว” ในกลุ่มลิงคาปูชินเพศผู้วัยรุ่นบนเกาะ เช่นเดียวกับที่เคยมีการศึกษาพบว่าลิงคาปูชินในคอสตาริกาเคยนิยมแปรงขนให้กับเม่น ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่หายากมากและเกิดขึ้นชั่วคราว ก่อนจะเลิกไปในภายหลัง
เบรนแดน บาร์เร็ตต์ (Brendan Barrett) ผู้ร่วมเขียนงานวิจัย กล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกพฤติกรรมของสัตว์ชนิดหนึ่งที่ลักพาตัวลูกของสัตว์อีกชนิดอย่างต่อเนื่อง โดยเกิดจากการเลียนแบบและแพร่กระจายภายในกลุ่มสังคม
อย่างไรก็ตาม กระแสนี้กลับนำมาซึ่งผลร้ายรุนแรง โดยมีลูกลิงฮาวเลอร์อย่างน้อย 4 ตัวที่ถูกพบว่าเสียชีวิต และนักวิจัยเชื่อว่าไม่มีลูกลิงฮาวเลอร์ตัวใดที่ถูกลักพาตัวไปรอดชีวิตเลย
สิ่งที่ยังคงเป็นปริศนาคือ ลิงคาปูชินจัดการลักพาตัวลูกลิงฮาวเลอร์ได้อย่างไร ทั้งที่โดยธรรมชาติแล้วลูกลิงฮาวเลอร์มักถูกพ่อ-แม่ที่ตัวใหญ่กว่าถึง 3 เท่า ปกป้องอย่างใกล้ชิด โกลด์สโบโรกล่าวว่า พวกมันทำได้สำเร็จอย่างเหลือเชื่อ แม้แต่ลูกลิงที่เพิ่งคลอดเพียง 1 หรือ 2 วัน ก็ยังถูกดึงตัวออกจากแม่ได้ โดยที่ลิงคาปูชินไม่ได้รับบาดเจ็บใดๆ
บนเกาะฮิการอน ลิงคาปูชินไม่มีศัตรูตามธรรมชาติและมีอาหารอุดมสมบูรณ์ นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า สภาพแวดล้อมนี้อาจทำให้พวกมันมี “เวลาว่าง” มากพอที่จะทดลองพฤติกรรมใหม่ๆ ทั้งที่มีประโยชน์และไม่มีจุดประสงค์ที่ชัดเจน
การศึกษาในครั้งนี้ครอบคลุมเหตุการณ์ที่บันทึกได้จนถึงเดือนกรกฎาคม 2023 (พ.ศ. 2567) แต่โกลด์สโบโรเปิดเผยว่า ยังมีรายงานอย่างน้อยอีกหนึ่งกรณีที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น แม้จำนวนเหตุการณ์จะเริ่มลดลง ซึ่งอาจเป็นเพราะจำนวนลูกลิงฮาวเลอร์บนเกาะเริ่มลดน้อยลง โดยลิงฮาวเลอร์บนเกาะนี้จัดอยู่ในกลุ่มใกล้สูญพันธุ์
ทีมนักวิจัยยังคงวางแผนศึกษาต่อไปว่า ลิงฮาวเลอร์ ซึ่งโดยปกติมีนิสัยสงบ จะเริ่มแสดงพฤติกรรมหวาดกลัวหรือก้าวร้าวต่อกลุ่มลิงคาปูชินที่ก่อนหน้านี้เคยอยู่ร่วมกันอย่างไม่มีปัญหาหรือไม่ เพื่อทำความเข้าใจผลกระทบระยะยาวจากปรากฏการณ์สุดประหลาดนี้
ภาพประกอบจาก : Brendan Barrett/Max Planck Institute of Animal Behavior