พาณิชย์เคาะ 4 มาตรการเร่งด่วน สู้ปาล์มราคาตกต่ำ! ดันโรงสกัดฯ ยืน 5 บาท/กก. เร่งส่งออก-ใช้ B7
พาณิชย์เร่งแก้ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ เคาะ 4 มาตรการดันราคา ยันโรงสกัดฯ รับซื้อ 5 บาท/กก. พร้อมคุมเข้มสกัดการเอาเปรียบเกษตรกร
สุราษฎร์ธานี – เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2568 ณ ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์และเร่งแก้ปัญหาราคารับซื้อผลปาล์มน้ำมันที่กำลังประสบภาวะตกต่ำ โดยได้จัดการประชุมร่วมกับ นายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และตัวแทนผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ประกอบด้วย ดร.วันสาด ศรีสุวรรณ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัด, นายไกรวุฒิ ศิริอนันตภัทร์ สมาคมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม รวมถึงผู้ประกอบการโรงงานสกัดฯ จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่ และตรัง รวม 12 ราย
นายวิทยากร เปิดเผยว่า นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรชาวสวนปาล์มในพื้นที่ภาคใต้อย่างยิ่ง จึงได้สั่งการให้กรมการค้าภายในเร่งลงพื้นที่เพื่อหาทางออกสำหรับปัญหาราคาปาล์มน้ำมันที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับเกษตรกรบางส่วนเร่งตัดปาล์มที่ยังไม่สุก ทำให้เกิดปัญหาวิกฤตการกระจุกตัวของผลผลิตหน้าโรงงานสกัดฯ
จากปัญหาดังกล่าว ที่ประชุมจึงได้กำหนด 4 มาตรการความร่วมมือ เพื่อแก้ไขสถานการณ์อย่างเร่งด่วน ดังนี้
- การบริหารการจัดคิว: โรงงานสกัดฯ จะต้องจัดช่องทางพิเศษ หรือ Fast Track สำหรับเกษตรกรรายย่อย เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำผลปาล์มมาจำหน่ายได้โดยตรงทุกวัน ส่วนลานเทรับซื้อผลปาล์มจะต้องบริหารจัดการปริมาณผลผลิตให้สอดคล้องกับกำลังการผลิตของโรงงานสกัดฯ ในแต่ละวัน โดยอาจกำหนดปริมาณการรับซื้อต่อลานต่อวัน และต้องรายงานปริมาณที่จะเข้าโรงสกัดในแต่ละวันให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่ทราบ
- การรับซื้อปาล์มน้ำมันและการกำหนดราคา: กรมการค้าภายในได้ขอความร่วมมือไปยังโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ให้เริ่มรับซื้อผลปาล์มน้ำมัน ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป ในระยะเวลา 2 เดือน (พฤษภาคม-มิถุนายน 2568) ในราคาเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 5 บาทต่อกิโลกรัม ที่เปอร์เซ็นต์น้ำมัน 18% โดยจะมีการประกาศราคาทุก 10 วัน และจะมีคณะทำงานร่วมกันติดตามสถานการณ์ราคาและการรับซื้ออย่างใกล้ชิด โดยจะมีการประชุมร่วมกับจังหวัดและโรงสกัดฯ ทุก 7 วัน เพื่อกำกับดูแล ติดตาม และพิจารณาปรับราคาให้เหมาะสมกับสถานการณ์และช่วงเวลา ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกร และลดการเร่งตัดปาล์มที่ยังไม่สุก
- การสื่อสารประชาสัมพันธ์: ผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่และผู้ประกอบการ จะต้องเร่งสื่อสารและประชาสัมพันธ์เงื่อนไขการรับซื้อ รวมถึงสถานการณ์ต่างๆ ให้เกษตรกรรับทราบอย่างทั่วถึงและเข้าใจตรงกัน เพื่อให้เกษตรกรสามารถวางแผนการตัดปาล์มได้อย่างเหมาะสม โดยเน้นย้ำให้ชะลอการตัดปาล์มไม่สุก ซึ่งหากตัดปาล์มที่สุกเต็มที่ จะมีเปอร์เซ็นต์น้ำมันที่สูงขึ้น และจะได้รับราคาที่ดีขึ้นตามไปด้วย
- มาตรการติดตาม คุมเข้ม และบังคับใช้กฎหมาย: กรมการค้าภายในจะทำงานร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) และกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ลงพื้นที่ตรวจสอบการซื้อขายผลปาล์มน้ำมันอย่างเข้มงวดในจังหวัดสำคัญ เช่น ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ และตรัง เพื่อป้องกันการเอาเปรียบเกษตรกร
อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในระหว่างวันที่ 22–25 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ได้มีการลงพื้นที่กำกับดูแลการซื้อขายผลปาล์ม โดยเฉพาะผลปาล์มลูกร่วง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและป้องกันการเอาเปรียบ จากการตรวจสอบลานเทรับซื้อ 20 ราย และโรงงานสกัดฯ 2 ราย พบความผิดที่ลานเทแห่งหนึ่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในประเด็นไม่แจ้งปริมาณสถานที่เก็บผลปาล์มตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งได้ดำเนินการตามกฎหมายแล้ว ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมการค้าภายในได้ดำเนินคดีกับลานเทที่มีพฤติการณ์ทำผลปาล์มร่วงอย่างไม่เป็นธรรมชาติไปแล้ว 6 คดี โดยศาลมีคำพิพากษาแล้ว 2 คดี ให้จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท และรอลงอาญา ส่วนอีก 4 คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล
นอกจากมาตรการภายในประเทศแล้ว กระทรวงพาณิชย์ยังเตรียมเร่งผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์ เพื่อช่วยลดผลผลิตส่วนเกินในประเทศและสร้างเสถียรภาพด้านราคา รวมถึงการผลักดันการใช้พลังงานทดแทน โดยเฉพาะการเพิ่มปริมาณการใช้ไบโอดีเซล B7 ซึ่งเรื่องนี้จะถูกนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เพื่อพิจารณาโดยเร็วต่อไป