สกศ. เปิดรายงานสภาวะการศึกษาไทย ไตรมาส 2/68 ชี้ความท้าทายยุคดิจิทัลและแนวทางยกระดับสู่สากล

กรุงเทพฯ – เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2568 ณ โรงแรมสวิสโฮเต็ล กรุงเทพมหานคร สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) โดย รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ได้เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเพื่อเผยแพร่รายงานสภาวะการศึกษาไทย ไตรมาสที่ 2 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานสำคัญ เช่น ดร.ปิยนุช วุฒิสอน รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ ดร.ทินสิริ ศิริโพธิ์ จากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และบุคลากรทางการศึกษาเข้าร่วมคับคั่ง

รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการศึกษาในฐานะรากฐานการพัฒนาประเทศ และความจำเป็นในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อปรับกลยุทธ์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง รายงานสภาวะการศึกษาไทยฯ ในไตรมาสนี้มีประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ โดยเฉพาะผลกระทบจากการเชื่อมโยงของเทคโนโลยีดิจิทัล ได้แก่

ประเด็นที่ 1: เหลียวมองการศึกษาและแนวโน้มที่เกิดขึ้น (Education at A Glance and Trends)

พบว่าเทคโนโลยีดิจิทัลนำมาซึ่งแนวโน้มสำคัญ อาทิ 7 ประเด็นคานงัดพลิกโฉมการศึกษา (ปี ค.ศ. 2025 – 2027) ที่ผู้กำหนดนโยบายควรให้ความสำคัญ ได้แก่ การเรียนรู้ตลอดชีวิต การศึกษาปฐมวัยและประถมศึกษา การวางแผนรองรับอนาคต ธรรมภิบาล การวิเคราะห์ผลลัพธ์ เส้นทางการศึกษา และปัญหาขาดแคลนครู

นอกจากนี้ ยังมี การศึกษา 2040: เป้าหมายใหม่ในโลกดิจิทัล (Education 2040: Teaching Compass) ที่เน้นการออกแบบหลักสูตรใหม่ การปรับเปลี่ยนการสอน การประเมินผล และความพร้อมของครูและระบบ รวมถึง แนวโน้มชี้ทางการศึกษา (Trends Shaping Education) โดย OECD ซึ่งวิเคราะห์ 48 แนวโน้ม ใน 4 ด้านหลัก คือ ด้านความขัดแย้งและความร่วมมือในโลก ด้านการทำงานและความก้าวหน้า ด้านเสียงสะท้อนและเรื่องราว และด้านร่างกายและความคิด

ประเด็นที่ 2: การเสริมพลังทางการศึกษาด้วยกลไกระดับสากล (Overall & Issues Benchmarking)

การเปรียบเทียบภาพรวมการศึกษาไทยใน 5 มิติกับระดับสากล (OECD, IMD, HDI, UNDP) ได้แก่ คุณภาพ (PISA), การเข้าถึง (อัตราเข้าเรียนมัธยม), ความเท่าเทียม (ปีการศึกษาที่คาดหวัง), ประสิทธิภาพ (PISA เทียบงบประมาณ), และการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง (สัดส่วนบัณฑิตอุดมศึกษา) พบว่าสิ่งที่ต้องปรับปรุงเร่งด่วนคือ ประสิทธิภาพ คุณภาพ และการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง

เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบรายประเด็น (AI for Education, Literacy, Gifted & Talent, Education Expenditure, Well being) ไทยมีจุดแข็งด้านทัศนคติต่อโลกาภิวัฒน์ การปรับตัว และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (อินเทอร์เน็ต) แต่ยังมีข้อจำกัดด้านอุปกรณ์ดิจิทัล อัตราการรู้หนังสือ และการดึงดูด/พัฒนา/รักษาบุคคลศักยภาพสูง ซึ่งชี้ให้เห็นความจำเป็นในการทบทวนการลงทุนทางการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ประเด็นที่ 3: การมีส่วนร่วมกับกลไกระดับสากล (Education Engagement)

สกศ. ขับเคลื่อนการศึกษาไทยสู่มาตรฐานสากลผ่านการประเมินผลระบบ การพัฒนาองค์ความรู้ และการมีส่วนร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD และ WERA พร้อมเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการและนำเสนอผลงานวิจัยระดับนานาชาติในปี 2570 เพื่อสร้างการรับรู้และเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดี

ประเด็นที่ 4: ภาพนโยบายทางการศึกษา (Education Policy Outlook)

การออกแบบนโยบายในยุคดิจิทัลต้องใช้รูปแบบ Strategic Foresight เพื่อคาดการณ์อนาคต คำนึงถึง Resilience (ความยืดหยุ่น/ฟื้นคืน) และ Well being (สุขภาวะที่ดี) เป็นอันดับแรก ซึ่งต้องประกอบด้วย 4 ขั้นตอนหลัก คือ วิเคราะห์แนวโน้ม (Trends shaping Thailand Education), วิเคราะห์สภาวการณ์ปัจจุบัน (Thailand Monitoring & Evaluation Education Analysis), กำหนดเป้าหมายระยะยาว (Thailand Education 2040), และประเมินความเสี่ยง (Strategic Foresight) เพื่อให้แนวนโยบายมีความยืดหยุ่นและตอบสนองการเปลี่ยนแปลง

ภายในงานยังมีการบรรยายพิเศษ “Learning in the Digital World” โดย ดร.ปิยนุช วุฒิสอน รองปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ เน้นการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัล ผ่านนโยบายสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขัน ความมั่นคงปลอดภัย และการพัฒนา Human Capital ที่มีทักษะดิจิทัล

สกศ. ยังคงเน้นแนวทาง Foresight ในการจัดทำข้อเสนอกรอบทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2568 – 2570 ครอบคลุม 4 ด้านหลักและ 8 ประเด็นสำคัญ (รายละเอียด ที่นี่) รวมถึงติดตามสภาวะการศึกษาเด็กปฐมวัย การขับเคลื่อน พ.ร.บ.การศึกษาใหม่ สมัชชาการศึกษาจังหวัด การศึกษาเท่าเทียม และการประเมินผลการบังคับใช้กฎหมายการจัดการศึกษา เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต่อเนื่องและทันสมัย นำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายที่สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ยกระดับสมรรถนะทางการศึกษา และวางรากฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *