กู้ซาก สตง. ถล่ม คืบหน้า: ลดระดับซากได้ 1 เมตร คาดสิ้นเดือนถึงชั้น 1 – ทีมกู้ภัยทุ่มเทภารกิจ ‘พาทุกร่างกลับบ้าน’

กรุงเทพมหานคร, 23 เมษายน 2568 – ความคืบหน้าล่าสุดของภารกิจกู้ซากอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ถล่มในพื้นที่เขตจตุจักร วันนี้ได้มีการแถลงข่าวจากศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ โดยนายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้บัญชาเหตุการณ์ ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าและแผนการดำเนินงาน

นายสุริยชัย กล่าวว่า ขณะนี้ทีมกู้ภัยสามารถลดความสูงของซากอาคารลงได้อย่างต่อเนื่อง โดยในโซน A และ D ซึ่งเดิมมีความสูง 9.78 เมตร ขณะนี้ลดลงเหลือ 9.35 เมตร ส่วนโซน B และ C ที่ยอดซากอาคารสูงที่สุด 8.58 เมตร ลดลงเหลือ 7.41 เมตร ในภาพรวมถือว่าลดระดับความสูงของซากลงได้เฉลี่ยประมาณ 1 เมตร

หากทีมงานยังสามารถคงระดับความเร็วในการทำงานนี้ไว้ได้ คาดการณ์ว่าภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้ จะสามารถเข้าถึงพื้นที่บริเวณพื้นชั้นที่ 1 ของอาคารได้ ซึ่งถือเป็นความคืบหน้าที่สำคัญในการเข้าถึงพื้นที่ด้านล่าง

สำหรับแผนการทำงานต่อไป จะมุ่งเน้นไปที่การเข้าถึงและเคลียร์พื้นที่บริเวณชั้นใต้ดิน โดยมีการประชุมวางแผนกับทีมงาน โดยเฉพาะฝ่ายช่าง เนื่องจากตัวอาคารมีความกว้างประมาณ 40 x 40 เมตร การทำงานจะใช้พื้นที่ทางด้านข้างที่ได้ทำการรื้อถอนออกไปก่อนหน้านี้ เพื่อนำเครื่องจักรหนักเข้าไปปฏิบัติงาน เคลียร์เศษปูนที่ทับถม เพื่อสร้างพื้นที่ว่างสำหรับขุดเจาะลงไปถึงชั้นใต้ดิน

รูปแบบการทำงานยังคงเป็นการขุดและตัดเหล็กจากด้านบนลงมา ความท้าทายหลักยังคงอยู่ที่โครงสร้างเหล็กเสริมภายในซาก ซึ่งทำให้เครื่องมือและเครื่องจักรหนักได้รับความเสียหายอยู่บ่อยครั้ง โดยเมื่อวานนี้ (22 เม.ย.) มีเครื่องมือเสียหาย 8 เคส และเคสที่หนักที่สุดคือบูมของเครื่องจักรหมายเลข 18 หัก ซึ่งต้องทำการเปลี่ยนใหม่ ส่งผลให้มีเครื่องจักรใช้งานได้ลดลง 1 ตัวในวันนี้ อย่างไรก็ตาม ทีมช่างจากกองโรงงานช่างกล สำนักงานการคลัง กทม. ได้จัดทีมเข้ามาช่วยในการซ่อมบำรุง โดยมีการเตรียมอะไหล่ เช่น สายไฮดรอลิกไว้พร้อม เพื่อให้การซ่อมแซมหน้างานเป็นไปอย่างรวดเร็ว

ในส่วนของการค้นหาร่างผู้สูญหาย เมื่อวานนี้ ทีมกู้ภัยพบร่างผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ราย บริเวณช่องบันได ในช่วงเวลาประมาณ 10.00 น. และ 12.00 น. หลังจากนั้นยังไม่พบร่างเพิ่ม แต่พบชิ้นส่วนประมาณ 4 เคส จากการประเมินพฤติกรรมของผู้ที่ติดอยู่ภายใน คาดว่าน่าจะพยายามวิ่งหนีลงมาด้านล่าง ซึ่งต่ำกว่าชั้นที่ 15 ลงมา โดยข้อมูลเบื้องต้นระบุว่ามีผู้ทำงานอยู่ภายในอาคารขณะเกิดเหตุประมาณ 40 คน

การพบร่างในช่องบันไดเป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์ เนื่องจากช่องบันไดและลิฟต์หนีไฟมักมีความแข็งแรงและมีช่องว่างมากกว่าโครงสร้างส่วนอื่น อย่างไรก็ตาม ระดับชั้นที่พบร่างอาจไม่ใช่ระดับชั้นที่ผู้เสียชีวิตอยู่ขณะเกิดเหตุทั้งหมด

ปัจจุบันมีเครื่องจักรหนักที่ใช้ในการปฏิบัติงานรวม 30 ตัว มีการผลัดเปลี่ยนคนขับเพื่อให้ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งจากภาคเอกชน ทหาร และทางราชการ

นายสุริยชัย ยืนยันว่า ทีมงานทุกคนทุ่มเทกับการทำงานและมีเป้าหมายเดียวกันคือการนำร่างผู้สูญหายออกมาให้ได้ครบทุกราย และพร้อมที่จะอยู่ร่วมกันในภารกิจนี้จนกว่าจะเสร็จสิ้น หากมองเนื้องานเป็นเปอร์เซ็นต์ ในภาพรวมขณะนี้มีความคืบหน้าใกล้เคียง 70 % แล้ว

ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 23 เมษายน 2568 เวลา 10.00 น. ยอดผู้ประสบภัยรวมทั้งสิ้น 103 ราย แบ่งเป็นผู้เสียชีวิต 53 ราย บาดเจ็บ 9 ราย และยังคงติดค้าง/สูญหาย 41 ราย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *