NSM เดินหน้าปั้น ‘นักสื่อสารวิทยาศาสตร์’ กว่าพันคน เสริมแกร่งสังคมสู้ Fake News วางเป้าสร้างเครือข่ายทั่วประเทศ

ปทุมธานี – องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM ประกาศความสำเร็จในการผลิต “นักสื่อสารวิทยาศาสตร์” ออกสู่สังคมไทยแล้วกว่า 1,000 คน ตั้งเป้าใช้เป็นกลไกสำคัญในการต่อสู้กับปัญหาข่าวปลอม (Fake News) เสริมสร้างสังคมไทยให้มีความเข้มแข็งด้วยหลักคิดทางวิทยาศาสตร์ และการมีเหตุมีผล พร้อมเดินหน้าต่อยอดสร้างเครือข่ายนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ระดับชาติ

เมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่ผ่านมา ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการ อพวช. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้แถลงข่าวภายใต้หัวข้อ “NSM ผลักดันการพัฒนาด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์สู่สังคมพร้อมต่อยอดแรงบันดาลใจสร้างโอกาสให้กับทุกช่วงวัย” โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสังคมวิทยาศาสตร์ สังคมแห่งการมีเหตุมีผล และมีหลักคิดที่ถูกต้อง การดำเนินการนี้สอดคล้องกับนโยบายของ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ที่มุ่งส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการพัฒนาบุคลากรคุณภาพเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ กล่าวว่า “หลายคนมองว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องยาก ซับซ้อน แต่ในความเป็นจริง วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญต่อการดำเนินชีวิตอย่างยิ่ง ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของ NSM ที่จะต้องทำให้เรื่องยากเหล่านี้กลายเป็นเรื่องง่าย และเข้าถึงประชาชนได้ ซึ่งจำเป็นต้องมี ‘นักสื่อสารวิทยาศาสตร์’ เป็นเครื่องมือสำคัญในการแปลงสารทางวิทยาศาสตร์ที่มีความเป็นเหตุเป็นผล ให้ประชาชนได้เข้าใจอย่างถูกต้อง”

ปัจจุบัน NSM ได้เปิดโอกาสให้คนหลากหลายช่วงวัยและหลากหลายอาชีพ ไม่จำกัดเพียงแค่ในแวดวงวิทยาศาสตร์ แต่ยังรวมถึงนักกฎหมาย นักสิ่งแวดล้อม อาจารย์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญในสายสังคมศาสตร์ เข้ามาร่วมกิจกรรมและโครงการต่างๆ จนสามารถผลิตนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพออกสู่สังคมได้แล้วกว่า 1,000 คน

ผู้อำนวยการ NSM ยังได้กล่าวถึงโครงการสำคัญที่ขับเคลื่อนการพัฒนาด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ อาทิ โครงการ NSM Junior Science Influencers สำหรับ Influencers รุ่นเยาว์ระดับประถมศึกษา, โครงการ SiT Talks: Science inspired by Teen เวทีระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย, โครงการจิตอาสาฯ ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนมัธยมปลายเข้ามาทำงานจริงในแหล่งเรียนรู้ของ NSM, โครงการทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทย Young Thai Science Ambassador (YTSA), โครงการ University Students’ Science, Technology and Innovation Talks (UniTi Talks) สำหรับนักศึกษาระดับอุดมศึกษา เพื่อเป็นกระบอกเสียงขับเคลื่อนสังคม, และโครงการอาสาสมัครวัยเก๋า ที่เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้นำความรู้และประสบการณ์มาถ่ายทอด โดยรุ่นที่ 3 กำลังจะเริ่มปฏิบัติงานระหว่างวันที่ 14 พฤษภาคม ถึง 31 กรกฎาคม 2568 ณ NSM คลองห้า ปทุมธานี, จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เดอะ สตรีท รัชดา และจัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เชียงใหม่

เมื่อถามถึงความท้าทายในการพัฒนาการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย ผศ.ดร.รวิน ชี้ว่ามีหลายประการ ทั้งการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย เช่น เยาวชน ชุมชนห่างไกล หรือกลุ่มเฉพาะทาง การทำให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายและน่าสนใจสำหรับคนทั่วไป การพัฒนาทักษะของนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ให้ถ่ายทอดเนื้อหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการนำเทคโนโลยีและสื่อใหม่ๆ มาปรับใช้เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความน่าสนใจในการสื่อสารวิทยาศาสตร์ให้มากยิ่งขึ้น

การดำเนินการของ NSM ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งทางวิทยาศาสตร์และเหตุผลให้กับสังคมไทย ผ่านเครือข่ายนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่จะช่วยกระจายความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และเป็นเกราะป้องกันปัญหาข่าวปลอมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *