กสทช. เอาจริง! สั่งค่ายมือถือ ‘รับผิดชอบ’ ความเสียหายอาชญากรรมออนไลน์ เข้มกฎหมายไซเบอร์ใหม่

กรุงเทพฯ – วันที่ 2 พฤษภาคม 2568 พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบูรการแนวทางในการบังคับใช้กฎหมายความผิดทางเทคโนโลยีโทรคมนาคมและความมั่นคงของรัฐ ถึงมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสำหรับผู้ให้บริการโทรคมนาคม ที่มีความเข้มข้นมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2568 หรือ พ.ร.ก.ไซเบอร์ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน ที่ผ่านมา

พล.ต.อ.ณัฐธร กล่าวว่า กฎหมายใหม่นี้ได้เพิ่มความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ โดยกำหนดให้ร่วมรับผิดชอบความเสียหายต่อประชาชน หากไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่ กสทช. กำหนด ซึ่งถือเป็นการยกระดับการป้องกันภัยออนไลน์อย่างจริงจัง โดยมีเรื่องสำคัญที่ได้ขอความร่วมมือและกำหนดให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์และผู้ให้บริการโทรคมนาคมต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

มาตรการหลักที่ผู้ให้บริการต้องดำเนินการ ได้แก่ การตรวจสอบและคัดกรองผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตอย่างสม่ำเสมอ หากพบความผิดปกติจะต้องระงับการใช้งานทันที นอกจากนี้ การส่งข้อความ SMS ที่แนบลิงก์ ผู้ประกอบการจะต้องมีกระบวนการตรวจสอบก่อนว่าเกี่ยวข้องกับมิจฉาชีพหรือไม่ ก่อนที่จะอนุญาตให้ส่งถึงผู้ใช้บริการ เพื่อป้องกันการหลอกลวงผ่าน SMS

สำหรับซิมการ์ดที่จดทะเบียนใหม่ ผู้ให้บริการมีหน้าที่ตรวจสอบย้อนกลับข้อมูลการจดทะเบียนภายในสัปดาห์แรก ว่ามีความถูกต้องตรงตามข้อเท็จจริงหรือไม่ หากพบว่าข้อมูลไม่ถูกต้องหรือไม่ตรงตามที่ลงทะเบียนไว้ จะต้องดำเนินการระงับการใช้งานทันที เป็นการป้องกันการใช้ซิมผิดกฎหมายตั้งแต่ต้นทาง

ในส่วนของซิมสำหรับนักท่องเที่ยว (Tourist SIM) ได้มีการกำหนดมาตรการที่เข้มงวดขึ้น โดยซิมเหล่านี้จะสามารถใช้งานได้ไม่เกิน 60 วัน และไม่สามารถเติมเงินเพื่อขยายระยะเวลาการใช้งานได้ หากนักท่องเที่ยวประสงค์จะใช้งานต่อหลังจากครบกำหนด จะต้องทำการลงทะเบียนยืนยันตัวตนกับผู้ให้บริการอีกครั้งหนึ่งก่อน จึงจะสามารถขยายระยะเวลาใช้งานได้

นอกจากนี้ มาตรการบริหารจัดการซิมการ์ดสำหรับชาวต่างชาติที่ได้ประกาศไปก่อนหน้านี้ ยังคงมีผลบังคับใช้ โดยจำกัดการลงทะเบียนไม่เกิน 3 ซิมการ์ดต่อคนต่อผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และต้องใช้หนังสือเดินทาง (Passport) ในการยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ใช้เอกสารประเภทอื่น พร้อมทั้งต้องระบุอย่างชัดเจนว่าใครคือผู้ใช้จริง และนิติบุคคลใดเป็นผู้ที่เปิดให้ใช้บริการ ถือเป็นการวางมาตรการเพิ่มเติมเพื่อติดตามและควบคุมการใช้ซิมของชาวต่างชาติให้มีความรัดกุมยิ่งขึ้น

ประเด็นสำคัญอีกอย่างคือการจัดการกับเครื่องซิมบ็อกซ์ (SIM Box) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มักถูกใช้ในการกระทำความผิด ปัจจุบันผู้ที่ถือครองซิมบ็อกซ์จะต้องดำเนินการขอรับใบอนุญาตตามกฎหมายวิทยุคมนาคมภายใน 90 วัน หลังจากร่างประกาศ กสทช. เรื่องเครื่องวิทยุคมนาคมและสถานีวิทยุคมนาคมที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องได้รับใบอนุญาตฯ มีผลบังคับใช้ ซึ่งร่างประกาศดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้ มาตรการนี้มีเป้าหมายเพื่อกำจัดซิมบ็อกซ์ผีออกจากระบบอย่างเด็ดขาด

พล.ต.อ.ณัฐธร ระบุว่า มาตรการเพิ่มเติมต่างๆ ที่ได้มีการพิจารณาในการประชุมครั้งนี้ คาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ก่อนจะนำเสนอต่อที่ประชุม กสทช. และประกาศใช้ต่อไป โดยเน้นย้ำถึงการเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบอย่างจริงจังของผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือและโทรคมนาคมในการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

การประชุมครั้งนี้ มีตัวแทนจากสมาคมธนาคาร, ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกค่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมพิจารณา ซึ่งทางผู้ประกอบการทุกรายต่างเห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว และพร้อมที่จะปฏิบัติตาม เพื่อร่วมกันยกระดับความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนผู้ใช้บริการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *