รมว.เกษตรฯ ‘นฤมล’ ปลื้ม! ราคายางพาราทุบนิวไฮรอบ 1 เดือน สำเร็จ พร้อมอัดฉีดมาตรการช่วยชาวสวน

กรุงเทพฯ – นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคายางพาราประจำวันที่ 7 พฤษภาคม 2568 ว่า ราคายางทุกชนิดยังคงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 (ไม่อัดก้อน) ซึ่งล่าสุดปรับขึ้นมาอยู่ที่ 72 บาทต่อกิโลกรัม และยางแผ่นดิบคุณภาพดี (ความชื้นไม่เกิน 3%) ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 70 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาทั้งสองชนิดนี้ถือเป็นราคาสูงสุดในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา สะท้อนความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ ราคาน้ำยางสดก็ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 59.50 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนยางก้อนถ้วย (DRC 100%) อยู่ที่ 59.25 บาทต่อกิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 70%) อยู่ที่ 41.48 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคายางโดยรวมขณะนี้ใกล้เคียงกับระดับราคาก่อนที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ จะประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการฟื้นฟูเสถียรภาพราคายางพาราของไทย

นางนฤมล กล่าวเพิ่มเติมถึงแผนการดำเนินงานในระยะถัดไปว่า ในสัปดาห์หน้าได้มอบหมายให้กองรักษาเสถียรภาพราคายาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เข้าไปเพิ่มปริมาณการรับซื้อน้ำยางสด และจะดำเนินการจ้างปั่นน้ำยางเพื่อจำหน่ายให้สหกรณ์ยางพาราในจังหวัดตราด นำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์หมอนและที่นอนสำหรับส่งออกสู่ตลาดประเทศอินเดียต่อไป รวมถึงจะผลักดันการนำน้ำยางสดที่ผ่านข้อกำหนดของกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EU Deforestation-free Regulations: EUDR) มาผลิตเป็นยางแผ่นรมควันคุณภาพสูงเพื่อรองรับความต้องการของตลาดโลก

“ขอให้พี่น้องชาวสวนยางทุกคนเชื่อมั่นในกระทรวงเกษตรฯ เรามุ่งมั่นและทำงานอย่างหนักเพื่อแก้ปัญหาด้านราคายางพาราอย่างสุดกำลัง เพื่อคลายความเดือดร้อนให้กับพี่น้องเกษตรกรให้ได้เร็วที่สุด ตลอดระยะเวลากว่า 1 เดือนที่ผ่านมา เราได้ทุ่มเทแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ จนสามารถทำให้ราคายางพารากลับคืนสู่ระดับราคาเดิมได้สำเร็จ” นางนฤมล ย้ำ

พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ยังฝากถึงชาวสวนยางในช่วงที่หลายพื้นที่อาจมีการเลื่อนการเปิดกรีดยางออกไปว่า ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสที่ดีในการบำรุงรักษาต้นยางเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการให้ผลผลิตที่ดีในอนาคต โดยทาง กยท. ได้เตรียมมาตรการสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงดังกล่าว ด้วยการสนับสนุนสินเชื่อระยะสั้นผ่านสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อสัญญา โดยให้ปลอดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 4 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป

นอกจากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรงแล้ว กยท. ยังมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการที่รับซื้อยางจากเกษตรกร ด้วยการชดเชยอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ภายใต้เงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการที่กำหนด เพื่อสร้างแรงจูงใจในการรับซื้อผลผลิตยางพาราจากเกษตรกร

ในระยะยาว กระทรวงเกษตรฯ โดย กยท. ยังคงเดินหน้าตามแผนการซื้อโรงงานผลิตยางล้อ เพื่อนำผลผลิตยางพาราของเกษตรกรมาใช้ในอุตสาหกรรมขั้นปลาย ช่วยดึงผลผลิตส่วนเกินออกจากตลาด ยกระดับคุณภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้ายางพารา รวมถึงส่งเสริมและสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์สินค้ายางพาราของ กยท. เอง และเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราภายในประเทศให้มากขึ้น เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับอาชีพชาวสวนยางพาราไทยในระยะยาว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *