มมส. จัดพิธีสักการะ ‘พระพุทธกันทรวิชัย อภิสมัยธรรมนายก’ สืบสานประเพณีอีสาน
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดงานสักการบูชาฮดสรงน้ำ “พระพุทธกันทรวิชัย อภิสมัยธรรมนายก” พุทธปฏิมาประจำเมืองมหาสารคาม ประจำปี สืบสานประเพณีอันดีงามของชาวอีสาน พร้อมย้อนรำลึกประวัติความเป็นมาและพระมหากรุณาธิคุณในหลวง รัชกาลที่ ๙
เมื่อเร็วๆ นี้ ณ บริเวณหน้าหอพระ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (เขตพื้นที่ในเมือง) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) ได้จัดพิธีสักการบูชาฮดสรงน้ำ “พระพุทธกันทรวิชัย อภิสมัยธรรมนายก” พุทธปฏิมาประจำเมืองมหาสารคาม ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนเมษายน โดยมี นายประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร บุคลากร นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดมหาสารคาม เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง เพื่อความเป็นสิริมงคลและสืบสานประเพณีอันดีงาม
ภายในพิธี อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้นำคณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร และนิสิต ตั้งขบวนอัญเชิญเครื่องสักการะ ดอกไม้ และน้ำสรง จากอาคารอเนกประสงค์ 50 ปี คณะศึกษาศาสตร์ ไปยังหอพระพุทธกันทรวิชัย อภิสมัยธรรมนายก การเคลื่อนขบวนเป็นไปอย่างสง่างาม โดยมีขบวนฟ้อนรำที่อ่อนช้อยงดงามจากนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ และขบวนกลองยาวที่สร้างความคึกคักจากวงศิลป์อีสาน โดยนิสิตวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ร่วมนำขบวนแห่เครื่องสักการะ เพื่อนำไปถวายปัจจัยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา (ต้นเงินจากแต่ละคณะ/หน่วยงาน) แด่ พระครูวินัยวรญาณ ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม (ธ) เจ้าอาวาสวัดป่าศรัทธาธรรมวิทยา ซึ่งเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ในพิธีครั้งนี้
สำหรับ “พระพุทธกันทรวิชัย อภิสมัยธรรมนายก” ถือเป็นพุทธปฏิมาคู่เมืองมหาสารคาม ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และพุทธศิลป์ สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสมหามงคลสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ในปีพุทธศักราช 2525 โดยเป็นดำริของสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม (ชื่อในขณะนั้น) โดยมี อาจารย์อาคม วรจินดา ผู้อำนวยการสถาบันฯ ในขณะนั้น เป็นหัวแรงสำคัญ
การจัดสร้างองค์พระได้มีการศึกษาค้นคว้ารูปแบบจากพระพิมพ์ดินเผาโบราณที่พบในภาคอีสานหลายแห่ง และได้ข้อสรุปให้ใช้พระพิมพ์ดินเผาที่ขุดพบ ณ โคกดอนพระ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม เป็นต้นแบบ องค์พระพุทธรูปเป็นปางสมาธิเพชร พระพักตร์อิ่มเอิบสื่อถึงความบริสุทธิ์และหลุดพ้น ประทับนั่งบนดอกบัวหงายซึ่งหมายถึงปรัชญาแห่งญาณที่นำไปสู่นิพพาน ส่วนเรือนแก้วด้านหลังเป็นรูปคลื่น แสดงถึงกิเลสตัณหาและไฟราคะในวัฏฏะสงสาร สันนิษฐานว่ารูปแบบเดิมอ้างอิงพุทธศิลป์สมัยปาละวะหรือคุปตะตอนปลาย ราวพุทธศตวรรษที่ 13
พิธีเททองหล่อองค์พระพุทธรูปมีความสำคัญยิ่ง โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง, สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี มาทรงประกอบพิธีเททองหล่อ เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2524 ณ พลับพลาพิธีข้างสนามกีฬามหาวิทยาลัย (ปัจจุบันคือฝั่งโรงพยาบาลสุทธาเวช) โดยมี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์ วาสโน) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธกันทรวิชัย อภิสมัยธรรมนายก” สร้างจากเนื้อโลหะสำริด ขนาดหน้าตักกว้าง 35 นิ้ว สูง 82 นิ้ว ทั้งยังพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญพระปรมาภิไธยย่อ ภปร ประดิษฐานไว้ ณ ผ้าทิพย์ด้านหน้าฐานพระพุทธรูป
ต่อมา ในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2524 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีพุทธาภิเษกและบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ณ หอประชุม มศว มหาสารคาม
นอกจากการสร้างองค์พระประธานแล้ว ยังได้มีการจำลองพระพุทธรูปกันทรวิชัย ขนาดหน้าตัก 12 นิ้ว จำนวน 99 องค์ ทูลเกล้าฯ ถวายในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้กับทุกจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อนำไปประดิษฐานเป็นพระประธาน ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัด ส่วนที่เหลือมหาวิทยาลัยได้เปิดให้พุทธศาสนิกชนเช่าบูชา และยังได้จัดสร้างเหรียญที่ระลึกขึ้นด้วย
ปัจจุบัน “พระพุทธกันทรวิชัย อภิสมัยธรรมนายก” ได้ประดิษฐานอย่างสง่างาม ณ หอพระ บริเวณหน้าสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และเป็นศูนย์รวมจิตใจ รวมถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวมหาสารคามมาจนถึงทุกวันนี้ โดยในแต่ละปีช่วงเดือน 5 หรือเดือนเมษายน มหาวิทยาลัยจะจัดกิจกรรมสืบสานประเพณีสรงน้ำองค์พระพุทธรูป เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บุคลากร นิสิต และประชาชนทั่วไป.