กนง. ลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ 1.75% SCB EIC คาดลดอีก 2 ครั้ง แตะ 1.25% สิ้นปี รับมือเศรษฐกิจชะลอ-สงครามการค้า

กนง. ลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ 1.75% SCB EIC คาดลดอีก 2 ครั้ง แตะ 1.25% สิ้นปี รับมือเศรษฐกิจชะลอ-สงครามการค้า

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 1.75% เหตุเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวลดลงและเสี่ยงด้านต่ำสูงขึ้นจากสงครามการค้า ด้าน SCB EIC ประเมินว่า กนง. จะลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ เหลือ 1.25% ณ สิ้นปี 2568 เพื่อรับมือสถานการณ์และความตึงตัวทางการเงิน

วันที่ 30 เมษายน 2568 ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติ 5:2 ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.00% มาอยู่ที่ 1.75% การตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ มาจากการประเมินของ กนง. ที่มองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวลดลง และมีความเสี่ยงด้านต่ำสูงขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้ ปัจจัยหลักมาจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และการตอบโต้ของประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการลงทุน รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลง นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย ขณะที่ภาวะการเงินในประเทศยังคงมีความตึงตัว

กนง. มองไปข้างหน้าว่า สถานการณ์สงครามการค้ามีแนวโน้มยืดเยื้อ และทอดยาวไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าและการผลิตโลก ซึ่งทำให้การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ามีความไม่แน่นอนสูงมาก ในครั้งนี้ กนง. ไม่ได้ให้ประมาณการเศรษฐกิจไทยกรณีพื้นฐาน (Baseline) เพียงกรณีเดียว แต่ได้นำเสนอประมาณการใน 2 ฉากทัศน์จากความไม่แน่นอนที่ยังสูงมาก โดยไม่ได้ระบุชัดว่ามองกรณีใดเป็นกรณีฐาน

2 ฉากทัศน์เศรษฐกิจไทยจากมุมมอง กนง.

1. Reference Scenario: สมมติฐานว่าสหรัฐฯ จะคงระดับภาษีสินค้านำเข้าเท่ากับอัตราที่มีผลบังคับใช้แล้วในปัจจุบัน ซึ่งหมายความว่าสินค้าจากไทยจะถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นในอัตรา 10% (ยกเว้นบางหมวดสินค้า) โดยสถานการณ์ความไม่แน่นอนนี้จะยืดเยื้อถึงสิ้นปี 2026 ในกรณีนี้ กนง. ประมาณการว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2025 จะขยายตัวได้ที่ 2.0% และในปี 2026 ที่ 1.8% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2025 และ 2026 อยู่ที่ 0.5% และ 0.8% ตามลำดับ

2. Alternative Scenario: สมมติฐานว่าสหรัฐฯ จะเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariff) ครึ่งหนึ่งของที่เคยประกาศไว้ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีนี้ ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค (Technical recession) ภายในปีนี้ ในกรณีนี้ กนง. ประมาณการว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2025 จะขยายตัวได้ที่ 1.3% และในปี 2026 ที่ 1.0% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2025 และ 2026 อยู่ที่ 0.2% และ 0.4% ตามลำดับ

กนง. มองว่าไม่ว่าสถานการณ์การค้าโลกจะออกมาในกรณีใด เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้อย่างมีนัยสำคัญ และมีความเสี่ยงด้านต่ำสูงขึ้นมาก จึงสื่อสารชัดว่านโยบายการเงินจำเป็นต้องอยู่ในระดับที่ “ผ่อนคลาย” เพื่อเอื้อต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจและครัวเรือนต่อสถานการณ์ที่มีความตึงเครียดและผันผวน โดยไม่ได้ให้คำนิยามว่าเป็น Easing cycle แต่พร้อมที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งแตกต่างจากการสื่อสารในครั้งก่อนๆ ที่พยายามเน้นย้ำว่านโยบายการเงินควรมีสถานะเป็นกลาง (Neutral)

SCB EIC ชี้ นโยบายการเงินต้องผ่อนคลายเพิ่มเติม

ด้าน SCB EIC ประเมินว่านโยบายการเงินจะต้องผ่อนคลายเพิ่มเติมอีก เนื่องจากปัจจุบันภาวะการเงินของไทยยังคงตึงตัวเมื่อเทียบกับในอดีต แม้จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาหลายครั้งแล้ว ทั้งจากสถานการณ์ในประเทศที่สินเชื่อชะลอตัว และคุณภาพสินเชื่อที่ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง

SCB EIC ชี้ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจต้องปรับลดลงไปต่ำกว่าช่วงสงครามการค้าครั้งแรก (Trade War 1.0) ในปี 2018-2019 ซึ่งขณะนั้นไทยได้รับผลกระทบทางอ้อม และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real interest rate) เฉลี่ยอยู่ที่เพียง 0.3% เท่านั้น แต่ปัจจุบันสงครามการค้ารุนแรงขึ้นมาก ไทยได้รับผลกระทบทางตรงและรุนแรง แต่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยในปัจจุบัน (ซึ่งรวมการลดดอกเบี้ยครั้งล่าสุดแล้ว) อยู่ที่ 0.7% การรับมือกับสงครามการค้ารอบนี้จึงอาจต้องอาศัยอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำลงกว่าอดีต

นอกจากนี้ SCB EIC ยังมองว่า นโยบายการเงินอาจต้องเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนเศรษฐกิจมากขึ้นในระยะข้างหน้า หลังจากเมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา Moody’s บริษัทจัดอันดับเครดิตเรตติง ได้ปรับลดแนวโน้มเรตติงของไทยจาก “Stable” เป็น “Negative” โดยยังคงอันดับเรตติงที่ Baa1 การปรับลดแนวโน้มครั้งนี้ สะท้อนมุมมองต่อเศรษฐกิจและฐานะทางการคลังของไทยที่มีแนวโน้มแย่ลง โดยไทยจะได้รับผลกระทบจากกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งจะซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจเดิมที่มีอยู่ สภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าและมีความเสี่ยงสูงขึ้นนี้ จะส่งผลต่อเนื่องให้ฐานะการคลังของไทยแย่ลงเพิ่มเติม การปรับ Outlook ดังกล่าวอาจจำกัดบทบาทของนโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า และทำให้นโยบายการเงินต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ SCB EIC จึงประเมินว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในปีนี้ สู่ระดับ 1.25% ภายในสิ้นปี 2568 เพื่อรองรับเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอลงตามความไม่แน่นอนที่ปรับสูงขึ้นมาก จากนโยบายการค้าสหรัฐฯ ประกอบกับความตึงตัวของภาวะการเงินที่มีอยู่เดิม ทั้งนี้ ระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปีนี้ที่ 1.25% จะต่ำกว่าช่วงปี 2018–2019 ที่เกิดสงครามการค้า 1.0 ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งขณะนั้นไทยยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *