มท. สั่งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ‘เด็กนอกระบบการศึกษา’ ต้องเป็นศูนย์! บูรณาการ อปท. ลดความเหลื่อมล้ำให้เด็กไทยได้เรียนรู้ทั่วถึง

กระทรวงมหาดไทยแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เร่งแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Zero Dropout) โดยเน้นย้ำการบูรณาการความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนทุกคนได้รับการเรียนรู้ที่ได้มาตรฐานอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของรัฐบาลและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2568 นายมนัส สุวรรณรินทร์ ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในฐานะโฆษกกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายข้าราชการประจำ เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทย ภายใต้การนำของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ขับเคลื่อนนโยบายสำคัญเพื่อ ‘บำบัดทุกข์ บำรุงสุข’ สร้างความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ โดยมีนโยบายเน้นหนัก 5 ด้าน เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมกับภาคีเครือข่ายและทุกภาคส่วนในพื้นที่ขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาหรือพัฒนาศักยภาพตามความถนัด เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ

นายมนัส กล่าวต่อว่า จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 ที่รับทราบมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) และคำสั่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ ระดับชาติ (คกส.) กระทรวงมหาดไทยในฐานะหนึ่งใน คกส. ได้แจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดแต่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อบูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โฆษกกระทรวงมหาดไทยกล่าวเพิ่มเติมว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ ได้ติดตามการขับเคลื่อนงานนี้อย่างต่อเนื่อง และชื่นชมบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้นำการบูรณาการระดับพื้นที่ ที่มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาดังกล่าว อาทิ นโยบาย “สุรินทร์เป็นหนึ่ง” และ “บุรีรัมย์โมเดล” ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งสองแห่งได้ร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม พัฒนาการศึกษา โดยมีการแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน เพื่อนำเด็กที่หลุดออกนอกระบบกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาตามกระบวนการ “ป้องกัน แก้ไข ส่งต่อ ติดตาม” รวมถึงดูแลกลุ่มเสี่ยงและหาวิธีช่วยเหลือแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม

ล่าสุด กระทรวงมหาดไทยได้เข้าร่วมประชุม คกส. ระดับชาติ ซึ่งมีมติให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบให้กลายเป็นศูนย์ผ่านกลไกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

ด้วยเหตุดังกล่าว กระทรวงมหาดไทยจึงได้มีหนังสือแจ้งเน้นย้ำไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้แจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ทั้งเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล ดำเนินการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ โดยอาจใช้คณะกรรมการชุดเดิมที่มีอยู่ หรือแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่ในระดับท้องถิ่น เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนงานนี้

เป้าหมายสำคัญของการขับเคลื่อนในระดับท้องถิ่นคือ เพื่อไม่ให้มีเด็กและเยาวชนคนใดสูญหายจากการดูแลของหน่วยงานรัฐ ส่งเสริมให้เกิดการศึกษาหรือการเรียนรู้ตามศักยภาพผ่านการสนับสนุนจาก อปท. ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่มีบทบาทใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ และมีอำนาจหน้าที่ด้านการจัดการศึกษา ทั้งในระบบและตามอัธยาศัย ให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐานอย่างทั่วถึงแก่ประชาชนในเขตพื้นที่ตามที่กฎหมายกำหนด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *