กระทรวงคมนาคมเดินหน้าแผนพัฒนาท่าเรือคลองเตย เฟสแรก 520 ไร่ เตรียมผุด “สมาร์ทพอร์ต-มิกซ์ยูส” ขนาดใหญ่ รอความชัดเจน กม.เอ็นเตอร์เทนเมนต์ฯ
กรุงเทพฯ, 6 พฤษภาคม 2568 – นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ครั้งที่ 1/2568 ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้เริ่มพิจารณาแนวทางการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ โดยนำร่องในเฟสแรกบนพื้นที่ประมาณ 520 ไร่ ซึ่งอยู่บริเวณหน้าท่าเรือ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า พื้นที่ 520 ไร่ดังกล่าวในปัจจุบันยังใช้งานได้ไม่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด แนวทางเบื้องต้นคือการนำมาปรับปรุงให้สามารถจัดเรียงตู้คอนเทนเนอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อรองรับการเป็น “สมาร์ทพอร์ต” ในอนาคตควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ หรือ “มิกซ์ยูส”
สำหรับโครงการมิกซ์ยูสที่วางแผนไว้จะประกอบด้วยสิ่งปลูกสร้างหลากหลายรูปแบบ เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ที่อยู่อาศัย และอาคารสำนักงาน โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จะเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำโมเดลการพัฒนาที่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนในภาพรวมเป็นสำคัญ
ส่วนประเด็นการพัฒนาพื้นที่บางส่วนให้เป็น “เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” นั้น นางมนพรกล่าวว่า กระทรวงคมนาคมยังคงรอดูความชัดเจนของพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. … หรือ พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
“ถามว่าทางกระทรวงและหน่วยงานต้องการให้เกิดขึ้นจริงหรือไม่นั้น ตนมองว่าอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนต่อประเทศชาติเราก็อยากจะทำ แต่เนื่องจากที่แห่งนี้เป็นทำเลทอง เวลาจะวางแผนทำอะไรในพื้นที่ต้องรอกฎหมาย และขอความร่วมมือทุกภาคส่วน” นางมนพรกล่าว
นางมนพรยังกล่าวเสริมว่า โจทย์ในการศึกษาพัฒนาพื้นที่ท่าเรือคลองเตย ควรมีการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์เป็นองค์ประกอบสำคัญ โดยเน้นโครงการมิกซ์ยูส การสร้างสนามกีฬา โรงละคร จุดจัดงานแสดงสินค้า โรงแรม หรือสวนสนุก ซึ่งหากพิจารณาตามข้อมูลที่ปรากฏในสื่อเกี่ยวกับเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ส่วนของกาสิโนจะมีสัดส่วนเพียงประมาณ 10% เท่านั้น
ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ยังมีมติให้จัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการศึกษาพื้นที่ 520 ไร่อย่างละเอียด เพื่อให้การพัฒนาเกิดประโยชน์สูงสุดและต้องไม่มีผลกระทบต่อชุมชน ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปจากการศึกษารายละเอียดต่างๆ ในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม 2569 หลังจากนั้นจึงจะเริ่มแนวทางการพัฒนาต่อไป
สำหรับพื้นที่ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 1,833 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 2,353 ไร่นั้น ยังคงอยู่ในแผนการพัฒนาเช่นกัน แต่จะเริ่มดำเนินการเป็นระยะๆ หากมีความคืบหน้าเพิ่มเติม จะมีการแจ้งให้ประชาชนได้รับทราบต่อไปโดยทันที
ในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ ซึ่งครอบคลุมด้านการทบทวนนโยบายและแผนแม่บท การศึกษาด้านกฎหมาย การเงินและการลงทุน การพัฒนาศักยภาพพื้นที่ชุมชน การสำรวจข้อมูลผู้พักอาศัย การจัดระเบียบด้านการจราจรและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการศึกษาทางเชื่อมต่อต่างๆ เช่น ทางพิเศษและระบบราง และด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนและการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้การสื่อสารแผนพัฒนากับทุกภาคส่วนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ