ประชุมปรับค่าจ้างขั้นต่ำล่ม องค์ประชุมไม่ครบ “นายจ้าง” ค้านเร่งปรับ 1 พ.ค.

วันที่ 8 เมษายน 2568 ที่กระทรวงแรงงาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 โดยมีวาระเพื่อพิจารณา 2 เรื่อง คือ พิจารณาทบทวนค่าจ้างขั้นต่ำปี 2568 และพิจารณามาตรการลดผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงที่ผ่านมา แต่เมื่อถึงเวลานัดหมายปรากฏว่ามีคณะกรรมการเข้าร่วมประชุมเพียง 8 คนจากทั้งหมด 15 คน โดยบอร์ดฝ่ายลูกจ้างเข้าร่วมประชุมเพียง 1 คน จาก 5 คน ขณะที่บอร์ดฝ่ายรัฐเข้าร่วมประชุม 2 คนจาก 5 คน ส่วนฝ่ายนายจ้างเข้าประชุมครบทั้ง 5 คน ใช้เวลาประชุมราว 3 ชั่วโมงจึงยุติลงโดยที่ประชุมยังไม่มีการพิจารณาเคาะค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อดีตเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการค่าจ้าง กล่าวว่า ที่ประชุมยังไม่ได้พิจารณาการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำและไม่มีการลงมติอะไรเนื่องจากการพิจารณาและลงมติจะต้องมีผู้เข้าร่วมประชุมครบองค์ประชุม 2 ใน 3 หรือ 10 คนจาก 15 คน แต่มีมาประชุมไม่ครบจึงมีการพูดคุยกันในเรื่องอื่นๆ ยังไม่พิจารณาปรับค่าจ้าง

ด้านนายณัฏฐกิตติ์ เขตตระการ กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า มีการนัดหมายประชุมอีกครั้งวันที่ 22 เม.ย. ซึ่งถือว่ามีพฤติการณ์ที่เร่งรีบประชุมเพื่อจะดันให้มีการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำให้ทันวันที่ 1 พ.ค. ซึ่งนายจ้างไม่เห็นด้วยที่จะมีการปรับค่าจ้างในช่วงนี้ เพราะเพิ่งจะปรับไปเมื่อวันที่ 1 ม.ค. มันเร็วเกินไปที่จะปรับอีก ประกอบกับสหรัฐอเมริกาประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย 36% ส่งผลกระทบกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าส่งออก ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้นจึงอยากให้รอเรื่องนี้นิ่งก่อน แล้วค่อยมาทบทวนค่าจ้างใหม่ก็ยังพอมีเหตุผลบ้าง และในวันที่ 22 เม.ย. บอร์ดฝ่ายนายจ้างติดภารกิจไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้

“ที่ประชุมได้รายงานผลกระทบจากการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำในรอบที่ผ่านๆ มา เช่นในกลุ่มพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรืออีอีซี ผู้ประกอบการในละแวกนั้นต่างก็ได้รับผลกระทบ เราจึงมองว่าหากมีการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นอีก จะกลายเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการให้หนักขึ้นไปอีก” นายณัฏฐกิตติ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เคยออกมาประกาศว่าจะมีการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำครั้งถัดไป ในวันที่ 1 พ.ค. 2568 ซึ่งเป็นวันแรงงานแห่งชาติเพื่อเป็นของขวัญกับผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ และจะมีการเคาะตัวเลขในวันที่ 8 เม.ย. นี้

ด้านนายบุญสงค์ กล่าวว่า การประชุมไม่ได้ล่ม แต่ข้อมูลต่างๆ ยังไม่ครบจึงให้เลื่อนไปประชุมในวันที่ 22 เม.ย. ส่วนจะเคาะได้หรือไม่ต้องรอมติที่ประชุม หากบอร์ดนายจ้างไม่ว่าง มาประชุมไม่ได้ ก็สามารถประชุมผ่านระบบ Zoom ส่วนข้อกังวลที่สหรัฐอเมริกาขึ้นภาษีสินค้าจากไทยก็ต้องนำมาพิจารณาด้วย จึงต้องไปดูว่ามีกิจการใดที่ได้รับผลกระทบบ้าง รวมถึงต้องมีมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย

จ่ายเยียวยาเหตุตึก สตง. ถล่มแล้วกว่า 19 ล้าน

นอกจากนี้ นายบุญสงค์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการชดเชยเยียวยาลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากตึก สตง. ว่า ขณะนี้มีผู้เสียชีวิต 21 ราย กระทรวงแรงงาน จ่ายเงินชดเชยกรณีเสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 19,663,482 บาท ผู้บาดเจ็บสำนักงานประกันสังคม จะดูแลให้การรักษาจนสิ้นสุดกระบวนการรักษา ส่วนคนที่ว่างงานก็จะต้องดูสิทธิเยียวยาซึ่งจะได้รีบเดือนละ 7,500 บาท ระยะเวลา 6 เดือน รวมแล้วคนละประมาณ 4 หมื่นกว่าบาท สำหรับแรงงานที่เข้ามาผิดกฎหมายได้พูดคุยกับทางนายจ้างว่ามีลูกจ้างกี่รายในตึกนั้น เพราะหลังเกิดเหตุลูกจ้างบางคนหนีไปเลยจึงต้องเคลียร์ให้ชัดเจน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกำลังตรวจสอบข้อมูล นายจ้างจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบแรงงานกลุ่มนี้และจะต้องดำเนินคดีตามกฎหมายด้วย.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *