อว. สั่ง 3 ม.เอกชน-มจร. แจงปม ‘นศ.จีน’ ใช้ ‘วีซ่านักเรียน’ ทำงาน ผิดวัตถุประสงค์ ชี้พบผิดปกติ ‘จัดการทันที’ เร่งคลอดกฎหมายคุมเข้ม
อว. สั่ง 3 ม.เอกชน-มจร. แจงปม ‘นศ.จีน’ ใช้ ‘วีซ่านักเรียน’ ทำงาน ผิดวัตถุประสงค์ ชี้พบผิดปกติ ‘จัดการทันที’ เร่งคลอดกฎหมายคุมเข้ม มหาวิทยาลัยที่มีต่างชาติถือหุ้น ป้องกันช่องโหว่การดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง
จากกรณี นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน ได้ตั้งข้อสังเกตถึงปัญหาที่เชื่อมโยงกับกรณีอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม โดยระบุถึงความเป็นไปได้ที่บริษัทก่อสร้างซึ่งมีผู้ถือหุ้นสัญชาติจีนทางอ้อมในสัดส่วนที่มากกว่าคนไทย อาจมีการนำวิศวกรต่างชาติเข้ามาทำงานโดยไม่ผ่านการควบคุมจากสภาวิศวกร และใช้ช่องทางของมหาวิทยาลัยที่อยู่ในทุนของคนจีน หรือที่เรียกว่า ‘มหาวิทยาลัยศูนย์เหรียญ’ ออกวีซ่านักศึกษาเพื่อเข้ามาทำงานในคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเร่งตรวจสอบอย่างเร่งด่วน
ล่าสุด วันที่ 22 เมษายน 2568 นายศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยเเละนวัตกรรม (อว.) ได้กล่าวถึงความคืบหน้าในประเด็นดังกล่าวว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ตึกถล่ม และมีกระแสข่าวเรื่องคนจีนใช้วีซ่านักเรียนมาทำงาน ทาง อว. ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้มีการสอบถามข้อมูลไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน เพื่อขอทราบรายชื่อหลักสูตรและสถาบันอุดมศึกษาที่มีนักศึกษาต่างชาติได้รับวีซ่าประเภท ED plus แต่กลับพบว่าไปทำงานในภาคเอกชนหรืออุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผิดวัตถุประสงค์ของการตรวจลงตรา
สำหรับกรณีของ นาย Mr.Jin Yue ชาวจีนที่ปรากฏในเหตุการณ์นำแฟ้มออกจากตึกถล่ม สตม. ให้ข้อมูลว่าบุคคลดังกล่าวได้รับวีซ่านักศึกษามาเรียนที่วิทยาลัยสงฆ์ลำพูน มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) ทาง อว. ได้สอบถามไปยัง มจร. เพื่อชี้แจงในประเด็นนี้ ซึ่งทาง มจร. แจ้งว่า นาย Mr.Jin Yue ได้สมัครเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตร ภาษาไทยสำหรับชาวต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2568 และได้พ้นสภาพการเป็นนักศึกษาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2568
มจร. ยืนยันว่าตลอดระยะเวลาการเรียนการสอน ได้มีการตรวจสอบรายชื่อผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง และได้รายงานข้อมูลต่อนายทะเบียน สตม. ประจำจังหวัดลำพูน เป็นประจำทุกสัปดาห์และทุกเดือน นอกจากนี้ ทาง สตม. ลำพูน ยังได้เข้าตรวจสอบมาตรฐานของการจัดการหลักสูตรอย่างสม่ำเสมอ และมีหลักฐานยืนยันการตรวจสอบอย่างชัดเจน เพื่อให้การจัดการนักศึกษาต่างชาติเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ
นายศุภชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ทาง มจร. ยืนยันหนักแน่นว่าไม่มีการต่อวีซ่าให้กับผู้เรียน หรือมีการเรียกรับเงินใดๆ ในการขอเปลี่ยนหรือขอวีซ่าจากชาวต่างชาติ อีกทั้งไม่ได้มีการจัดหารถตู้รับ-ส่งแต่อย่างใด และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่ชาวจีนหรือชาวต่างชาติเหล่านั้นกระจายตัวเข้าไปทำงานตามไซต์งานต่างๆ ทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม อว. ได้มีหนังสืออย่างเป็นทางการถึง มจร. และมหาวิทยาลัยเอกชนอีก 3 แห่งที่ปรากฏชื่อว่ามีผู้ถือหุ้นสัญชาติจีน ให้รายงานข้อมูลนักศึกษาชาวจีนที่เข้ามาศึกษาอย่างละเอียด ทั้งในเรื่องจำนวน สาขาวิชาที่เข้าเรียน ระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษาจนสำเร็จ และประเภทของวีซ่านักเรียนที่ได้รับ โดยต้องส่งรายละเอียดทั้งหมดให้อว. ภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์
ส่วนกรณีที่มีมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งซึ่งมีผู้ถือหุ้นสัญชาติจีน ได้เปิดหลักสูตรระดับปริญญาโทและเอกด้านวิศวกรรมนั้น จากการตรวจสอบของ อว. พบว่ามหาวิทยาลัยดังกล่าวมีการเปิดหลักสูตรในสาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีวิศวกรรม (หลักสูตรภาษาจีน) ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรเดิม พ.ศ. 2558 ในปัจจุบัน อว. กำลังติดตาม ตรวจสอบ และกำกับดูแลมาตรฐานหลักสูตรและการดำเนินการของทั้ง 3 มหาวิทยาลัยนี้อย่างใกล้ชิด ภายใต้กรอบของกฎหมายและอำนาจหน้าที่ของ อว.
ปลัดกระทรวง อว. กล่าวย้ำว่า ประเด็นนี้เป็นที่สนใจของสังคมอย่างมาก หากตรวจพบสิ่งผิดปกติ หรือการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย อว. จะเข้าดำเนินการตามมาตรการทันที ขณะนี้ อว. กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำกฎหมายและระเบียบใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแล ตรวจสอบ มหาวิทยาลัยที่มีผู้ถือหุ้นเป็นชาวต่างชาติให้มากยิ่งขึ้น เพื่อปิดช่องว่างที่อาจนำไปสู่การดำเนินการที่ไม่เหมาะสมในอนาคต