ม้านั่งมีหู: นวัตกรรมชุมชนเยียวยาใจ สู้ปัญหาสุขภาพจิต จับมือ สสส.-จุฬาฯ หนุนฟังอย่างเข้าใจ

ในวันที่ชีวิตเต็มไปด้วยความกดดัน ปัญหา และความเหนื่อยล้า แค่มีใครสักคนที่พร้อมนั่งลงข้างๆ รับฟังเราอย่างตั้งใจ ก็อาจเปลี่ยนวันแย่ๆ ให้เบาขึ้นได้ แต่สำหรับใครหลายคน การหา ‘คนรับฟัง’ กลับไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ปัญหาสุขภาพจิตกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ระบบบริการสุขภาพยังไม่สามารถเข้าถึงผู้คนได้อย่างทั่วถึง การสร้างความเข้มแข็งในระดับชุมชนจึงกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งผลักดัน

ความพยายามเกี่ยวกับการขับเคลื่อนงานด้านสร้างเสริมสุขภาพจิตนี้ถูกนำเสนอใน งานประชุมวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) งานประชุมนี้เน้นการประสานพลังทางสังคม เพื่อขับเคลื่อนความรู้ นวัตกรรม และนโยบายสาธารณะ พร้อมนำเสนอผลการดำเนินงานของ TIMS ผ่าน 9 โครงการเด่น

หนึ่งในโครงการที่น่าสนใจ คือ โครงการพัฒนาตัวแบบและกระบวนการอาสาสมัครสุขภาพจิตในชุมชน หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ม้านั่งมีหู’ ซึ่งมีจุดเน้นที่การส่งเสริมศักยภาพของชุมชนในการดูแลกันเองผ่านกระบวนการอบรมอาสาสมัครในชุมชน

โครงการ ‘ม้านั่งมีหู’ ได้แรงบันดาลใจจากโครงการ ‘ม้านั่งมิตรภาพ’ (Friendship Bench) ของประเทศซิมบับเว ซึ่งใช้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขพื้นฐาน (Lay Health Workers) ที่ผ่านการอบรมด้านจิตสังคมให้บริการรับฟัง ให้คำปรึกษา และสนับสนุนผู้มีปัญหาสุขภาพจิตในชุมชน โครงการ Friendship Bench ประสบความสำเร็จในการให้บริการสุขภาพจิตในพื้นที่ที่มีทรัพยากรจำกัด ผ่านการสร้างพื้นที่ที่เป็นมิตร เปิดกว้าง และปลอดภัยสำหรับการสื่อสารเกี่ยวกับปัญหาทางจิตใจ

สำหรับประเทศไทย โครงการม้านั่งมีหู ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยมีเป้าหมายในการเสริมสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจด้านสุขภาพจิตในชุมชน โดยใช้อาสาสมัครที่เป็นสมาชิกของชุมชนเป็นผู้ดำเนินการ อาสาสมัครเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างสมาชิกในชุมชนกับบุคลากรด้านจิตเวชและวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่เป็นผู้รับฟัง ให้คำแนะนำเบื้องต้น และประสานงานเพื่อส่งต่อผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเข้าสู่ระบบการดูแลที่เหมาะสม

คุณอมรเทพ สัจจะมุนีวงศ์ ผู้ก่อตั้งบริษัท สติ แอพ จำกัด หรือ Sati App ผู้รับผิดชอบโครงการม้านั่งมีหู เล่าถึงสถานการณ์สุขภาพจิตในประเทศไทยที่น่าเป็นห่วงว่า ทุกๆ 2 ชั่วโมง จะมีการฆ่าตัวตายสำเร็จ และคาดการณ์ว่าอาจมีประชากรราว 10 ล้านคน กำลังเผชิญปัญหาสุขภาพจิต แต่มีเพียงประมาณ 3 ล้านคนเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงกระบวนการรักษาได้จริง ปัจจัยหลักคือ การมีบุคลากรทางด้านสุขภาพจิตไม่เพียงพอ และค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง

คุณอมรเทพ กล่าวเสริมว่า “ช่วงแรกที่ทำงานด้านการฟัง หลายคนไม่เชื่อว่าการฟังสามารถทำให้คนมีความรู้สึกที่ดีขึ้นได้ Sati มีแอปมือถือที่ให้ผู้ที่ผ่านการอบรมทักษะการฟังแล้วมาอาสาเป็นเพื่อนรับฟังอยู่บนระบบ ตัวอย่างจาก 4,185 สายที่ได้รับ เรามี Pre-Post เพื่อที่จะดูว่าก่อนโทรสภาวะความเครียดหรือในมิติความลบอยู่ที่เท่าไหร่ หลังโทรเป็นอย่างไร โดยพบว่าก่อนและหลังโทร สภาวะความลบหรือความรู้สึกอยากทำร้ายตัวเองน้อยลง เป็นเพราะบางครั้งที่เราอยู่คนเดียว ความรู้สึกนั้นมันเพิ่มขึ้น แต่เมื่อมีใครมารับฟัง ความรู้สึกนั้นมันอาจจะค่อยๆ ลดลงไป”

คุณอมรเทพ อธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อพิจารณาเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่าปัจจัยหลักที่ทำให้ประชาชนโทรเข้ามาในระบบประกอบด้วย 5 ปัจจัย ได้แก่ ความสัมพันธ์ ครอบครัว การงาน การศึกษา และความเหงา สำหรับโครงการม้านั่งมีหู สิ่งที่กำลังดำเนินการคือ จะทำอย่างไรให้ Public Space หรือพื้นที่สาธารณะต่างๆ มีม้านั่งไปตั้ง และจัดให้มีอาสาสมัครที่ผ่านการอบรม Active Listening Skill มาประจำที่ม้านั่งเพื่อดูแลเยียวยาจิตใจเบื้องต้น หากพบว่าผู้รับบริการมีความจำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการรักษา ก็จะมีการประสานส่งต่ออย่างเหมาะสม โดยในวันที่ 3 พฤษภาคม นี้ จะมีการเปิดตัวม้านั่งตัวแรก ที่อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำหรับขั้นตอนปฏิบัติการบนม้านั่งมีหู เริ่มต้นจากผู้ที่มีภาวะเครียดสามารถเดินเข้ามาที่จุดที่มีม้านั่ง เพื่อเช็กอินกับสตาฟ จากนั้นทำการกรอกแบบฟอร์มแสดงความยินยอม พร้อมเข้าสู่การพูดคุยเบื้องต้นและประเมินอารมณ์ก่อนเข้ารับบริการ จากนั้นทำการ Active Listening ประมาณ 40 นาที เมื่อจบบทสนทนาจะทำการประเมินความรู้สึกของผู้เข้ารับบริการอีกครั้ง หลังจากนั้นเพื่อนรับฟังทำการกรอกแบบฟอร์มสรุปการรับฟัง

บางครั้งสิ่งที่ช่วยเยียวยาหัวใจได้ดีที่สุด อาจไม่ใช่คำแนะนำที่ซับซ้อน แต่คือการมีใครสักคนที่พร้อมนั่งฟังด้วยใจจริง ‘ม้านั่งมีหู’ จึงไม่ใช่แค่ที่นั่งธรรมดา แต่เป็นพื้นที่เล็กๆ ที่จะเปิดโอกาสให้ความหวัง ความเข้าใจ และการดูแลใจได้งอกงามในชุมชน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *