ปศุสัตว์แม่ฮ่องสอน ยกระดับเฝ้าระวัง ‘โรคแอนแทรกซ์’ หลังพบผู้ป่วยในไทย ย้ำยังไม่พบในพื้นที่ ขอเกษตรกรอย่าชำแหละซากสัตว์ป่วย

แม่ฮ่องสอน – นายสมพงษ์ พิพัฒนพงค์ชัย ปศุสัตว์จังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยถึงมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) ในพื้นที่อย่างเข้มงวด หลังกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์โรคดังกล่าวในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้พบผู้ป่วยยืนยันที่จังหวัดมุกดาหาร และมีผู้สัมผัสใกล้ชิดจำนวนมาก

นายสมพงษ์ กล่าวว่า แม้ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนจะยังไม่พบรายงานผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ ทั้งในคนและสัตว์ แต่ทางสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแม่ฮ่องสอน ภายใต้การกำกับดูแลของกรมปศุสัตว์ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ยกระดับการเฝ้าระวังในกลุ่มสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น โค กระบือ แพะ และแกะ ซึ่งเป็นแหล่งรังโรคสำคัญ

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดของโรคแอนแทรกซ์ในประเทศไทย มีรายงานพบผู้ป่วยยืนยันที่อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร จำนวน 1 ราย โดยผู้ป่วยมีประวัติเกี่ยวข้องกับการชำแหละและรับประทานเนื้อโคดิบ นอกจากนี้ยังมีรายงานพบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมอีก 1 ราย ซึ่งเป็นเพื่อนกับผู้ป่วยรายแรก และมีผู้สัมผัสโรคที่ต้องเฝ้าระวังถึง 638 คน

โรคแอนแทรกซ์ จัดเป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมีสปอร์ที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้นานหลายปี สัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น โค กระบือ แพะ และแกะ เป็นแหล่งรังโรคหลักที่สำคัญ เชื้อสามารถแพร่มาสู่คนได้โดยตรง การติดเชื้อในคนส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสสัตว์ที่ป่วยโดยตรง เช่น ขณะชำแหละ หรือสัมผัสหนังสัตว์ ขนสัตว์ รวมถึงการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ติดเชื้อโดยเฉพาะเนื้อดิบ หรือปรุงไม่สุก

ปศุสัตว์จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ขอความร่วมมือไปยังประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อร่วมกันป้องกันและควบคุมโรค โดยขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการสัมผัสโค กระบือ แพะ แกะ ที่มีอาการป่วยหรือไม่แข็งแรง ควรล้างมือและชำระร่างกายให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสสัตว์ และให้เลือกบริโภคเนื้อสัตว์ที่ได้รับการรับรองความปลอดภัย หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ ปวดเมื่อย หรือมีแผลที่ผิวหนัง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ที่สำคัญที่สุด สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ แพะ และแกะ หากพบสัตว์แสดงอาการป่วยหนัก หรือตายผิดปกติ โดยไม่ทราบสาเหตุ ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด คือ ห้ามเปิดผ่าซากสัตว์ที่ตายแล้วโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อสปอร์ ซึ่งมีความอันตรายสูง และห้ามเคลื่อนย้ายซากสัตว์ หรือนำไปชำแหละเพื่อการบริโภคโดยเด็ดขาด

ขอให้เกษตรกรและประชาชนที่พบสัตว์ป่วยหรือตายผิดปกติในลักษณะดังกล่าว โปรดรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ หรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแม่ฮ่องสอนทันที เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการตรวจสอบ เก็บตัวอย่าง และจัดการซากสัตว์อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างทันท่วงที

มาตรการเหล่านี้ถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการป้องกันไม่ให้โรคแอนแทรกซ์เข้าสู่พื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และสร้างความปลอดภัยให้กับสุขภาพของประชาชนและสัตว์เลี้ยงในพื้นที่

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *