เปิดประวัติและวัตรปฏิบัติอันน่าเลื่อมใส “เทพเจ้าต้นน้ำเจ้าพระยา” หลวงปู่ชอุ้ม วัดตะเคียนเลื่อน พระเถระ ๙๖ ปี ต้นแบบนักพัฒนาและอนุรักษ์
นครสวรรค์ – เปิดประวัติและวัตรปฏิบัติอันน่าเลื่อมใสของ พระราชมงคลวชิรสาร (ชอุ้ม กตสาโร) เจ้าอาวาสวัดตะเคียนเลื่อน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ หรือที่พุทธศาสนิกชนรู้จักในนาม “หลวงปู่ชอุ้ม” พระเถระผู้สูงด้วยอายุพรรษาและเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านในพื้นที่และใกล้เคียง จนได้รับสมญานาม “เทพเจ้าต้นน้ำเจ้าพระยา”
ปัจจุบัน หลวงปู่ชอุ้ม สิริอายุ 96 ปี พรรษา 76 ท่านเป็นศิษย์พุทธาคมสายตรงของ พระครูนิวาตธรรมขันธ์ หรือ หลวงพ่อภู่ วัดตะเคียนเลื่อน อดีตพระเกจิชื่อดังร่วมยุคสมัยเดียวกับ หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ ท่านได้รับการยอมรับว่าเป็นพระสงฆ์ที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีวัตรปฏิบัติอันงดงาม (สุปฏิปันโน) เป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้าน และเปี่ยมด้วยเมตตาธรรม
หลวงปู่ชอุ้ม มีนามเดิมว่า ชอุ้ม สังข์เดช เกิดเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2472 ที่บ้านเลขที่ 15 หมู่ 2 ตำบลตะเคียนเลื่อน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ในวัยเยาว์ท่านจบชั้นประถมปีที่ 4 ที่โรงเรียนวัดตะเคียนเลื่อน
เมื่ออายุครบ 20 ปี ได้เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2492 ณ วัดตะเคียนเลื่อน โดยมี พระเทพคุณาภรณ์ (เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์พระครูนิทานโพธิวัฒน์) เจ้าคณะอำเภอเมืองนครสวรรค์ วัดโพธาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ ในตอนแรกท่านตั้งใจจะบวชเพียง 1 พรรษาตามประเพณี แต่ด้วยคำขอของ หลวงปู่ดิษฐ์ วัดท่าซุด ผู้เป็นปู่ ทำให้ท่านตัดสินใจครองผ้ากาสาวพัสตร์นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ตลอดระยะเวลาในสมณเพศ หลวงปู่ชอุ้มได้ศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างมุ่งมั่น จนสอบได้นักธรรมชั้นตรีและโทในปี พ.ศ.2500 ท่านได้รับภาระงานปกครองสงฆ์ในหลายตำแหน่ง ทั้งเจ้าอาวาสวัดตะเคียนเลื่อน (หลายครั้ง), เจ้าคณะตำบลตะเคียนเลื่อน, พระอุปัชฌาย์ และที่ปรึกษาเจ้าคณะตำบลตะเคียนเลื่อน ท่านเคยไปเป็นเจ้าอาวาสวัดจอมคีรีนาคพรตซึ่งเป็นวัดที่ใหญ่กว่า แต่ด้วยความผูกพันและคำนิมนต์ของชาวบ้าน จึงกลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดตะเคียนเลื่อนอีกครั้ง
ด้วยคุณงามความดีและคุณูปการต่อสังคม ท่านได้รับพระราชทานรางวัล เสาเสมาธรรมจักร จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในสาขาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เมื่อปี พ.ศ.2540 และล่าสุดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2565 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชมงคลวชิรสาร นับเป็นพระเถระผู้มีพรรษาสูงที่สุดรูปหนึ่งในพื้นที่ปากน้ำโพ และมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักในภาคเหนือตอนล่างต่อเนื่องไปจนถึงภาคกลาง
หลวงปู่ชอุ้มได้รับการยกย่องว่าเป็นทั้ง พระนักพัฒนาและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมถึงเป็น พระต้นแบบด้านงานอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณี และพิธีกรรมทางศาสนา ท่านให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการสืบสานมรดกท้องถิ่น เช่น “สลากภัตมะม่วง” ประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดกันมานับศตวรรษ นอกจากนี้ยังเป็นผู้สืบสานวิถีชีวิตและวัฒนธรรมการ แข่งเรือ ซึ่งในอดีตท่านเคยเป็นช่างขุดเรือไม้ตะเคียนด้วยตนเอง ทำให้วัดตะเคียนเลื่อนกลายเป็นเสมือน พิพิธภัณฑ์เรือแข่ง ที่รวบรวมเรือเก่าแก่และเรือที่สร้างขึ้นใหม่ไว้มากมาย
อุปนิสัยของหลวงปู่ชอุ้มนั้นเรียบง่าย สมถะ รักความสะอาด มีระเบียบ และเปี่ยมด้วยเมตตา ท่านปฏิบัติกิจวัตรประจำวันอย่างสม่ำเสมอหากไม่อาพาธ เริ่มตั้งแต่ทำวัตรเช้า ออกบิณฑบาต ฉันเช้าและทำความสะอาดวัด ฉันเพล และทำวัตรเย็น
สิ่งที่ชาวบ้านให้ความเคารพเกรงขามอีกประการคือ ท่านมี “วาจาสิทธิ์” พูดคำใดมักเป็นไปตามนั้น ทำให้ท่านพูดน้อย เน้นเฉพาะเนื้อหาสำคัญ และมักเน้นย้ำคติสอนใจว่า “ปากพูดมากวอนให้เจ็บจมูกไปด้วย” อันหมายถึงการพูดในสิ่งที่ไม่ควรจะนำความเดือดร้อนมาให้
หลวงปู่ชอุ้มยังมีความเชี่ยวชาญในการช่วยเหลือผู้คนจากโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งท่านกล่าวว่าไม่ได้เน้นการใช้วิทยาคม แต่ใช้การสวดมนต์สรรเสริญพระรัตนตรัยและขอบารมีครูบาอาจารย์ที่เคารพ
แม้จะเข้าสู่วัยชราด้วยอายุ 96 ปีแล้วก็ตาม พระราชมงคลวชิรสาร (หลวงปู่ชอุ้ม) ยังคงมุ่งมั่นปฏิบัติศาสนกิจ เผยแผ่พระพุทธศาสนา และเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาและเป็นที่พึ่งของชาวบ้านสืบไป.