น้อมรำลึก 160 ปี ชาตกาล “หลวงพ่ออยู่ วัดบางหัวเสือ” พระเกจิชื่อดังแห่งปากน้ำ

สมุทรปราการ – เนื่องในวันจันทร์ที่ 5 พฤษภาคม 2568 คณะศิษยานุศิษย์และสาธุชนทั่วไป ร่วมกันน้อมรำลึกครบรอบ 160 ปี ชาตกาล “หลวงพ่ออยู่ ธัมมเตโช” หรือ “พระครูวิบูลสิกขกิจ” อดีตเจ้าอาวาสวัดบางหัวเสือ ต.บางหัวเสือ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ หนึ่งในพระเกจิอาจารย์เรืองวิทยาคมรุ่นเก่าที่มีชื่อเสียงโด่งดังแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งปู่เจ้าสมิงพราย

หลวงพ่ออยู่ ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2408 ณ บ้านบางหัวเสือ บิดา-มารดา ชื่อ นายเปี่ยม และนางอิน เปี่ยมเจริญ ซึ่งประกอบอาชีพทำสวนจากและค้าขาย ในวัยเยาว์ ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนและเป็นศิษย์วัดบางหัวเสือ คอยปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อบัว อดีตเจ้าอาวาส

เมื่ออายุครบ 23 ปี ท่านได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ณ วัดราชสิทธาราม เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2431 โดยมีพระสังวรานุวงศ์เถร (เอี่ยม) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระมงคลเทพมุนี (เอี่ยม) อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ 14 เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และพระอริยศีลาจาร (เอี่ยม) อดีตเจ้าอาวาสวัดสังข์กระจาย ฝั่งธนบุรี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาทางธรรมว่า “ธัมมเตโช”

ภายหลังอุปสมบท ท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดพลับ เป็นเวลา 1 พรรษา จากนั้นจึงขออนุญาตเจ้าอาวาสย้ายกลับมาจำพรรษา ณ วัดบางหัวเสือ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน

ที่วัดบางหัวเสือ ท่านได้พบกับพระอาจารย์เที่ยง พระหนุ่มลูกบ้านเดียวกันที่บวชในปี พ.ศ. 2431 เช่นกัน แต่มีอายุอ่อนกว่า 2 ปี พระอาจารย์เที่ยงท่านนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาคม ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากต้นตำรับของวัดบางหัวเสือ และเป็นผู้สร้างพระปิดตาเนื้อตะกั่วพิมพ์นั่งยองหลังพระพุทธที่เล่ากันว่าสามารถเสกให้ลุกนั่งได้อย่างอัศจรรย์

เมื่อพระอาจารย์ทั้งสองท่านมาอยู่ร่วมกัน ต่างก็ช่วยกันพัฒนาวัดบางหัวเสือให้เจริญรุ่งเรืองในทุกๆ ด้าน นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันศึกษาและค้นคว้าด้านพุทธาคมอย่างลึกซึ้ง จนมีความรู้ความสามารถไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2454 หลวงพ่ออยู่ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดบางหัวเสือ ซึ่งในครั้งแรกท่านไม่ยอมรับตำแหน่งนี้ โดยเห็นว่าควรให้หลวงพ่อเที่ยงซึ่งอยู่วัดบางหัวเสือก่อนได้รับตำแหน่งนี้ แต่หลวงพ่อเที่ยงก็ปฏิเสธเช่นกัน โดยให้เหตุผลว่าหลวงพ่ออยู่มีความอาวุโสกว่าทั้งด้านวัยวุฒิและคุณวุฒิ จึงสมควรได้รับตำแหน่งนี้

ด้านงานปกครอง หลวงพ่ออยู่ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ในปี พ.ศ. 2454 และเป็นเจ้าคณะตำบลบางหัวเสือในปี พ.ศ. 2461 ส่วนด้านสมณศักดิ์ ในปี พ.ศ. 2482 ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรีที่ “พระครูวิบูลสิกขกิจ”

หลวงพ่ออยู่ได้สร้างสรรค์วัตถุมงคลไว้หลากหลายรูปแบบ เช่น ตะกรุด ผ้ายันต์ นางกวัก ลูกอม เหรียญ รูปหล่อ และพระปิดตา ฯลฯ แต่วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมและเป็นที่เสาะแสวงหาเป็นอย่างสูง คือ พระปิดตา ซึ่งท่านได้จัดสร้างไว้หลายพิมพ์

ในช่วงบั้นปลายชีวิต ในคืนวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2505 ท่านได้ให้ศิษย์ไปนิมนต์พระมาสวดมนต์ต่ออายุ แต่เมื่อพระมาถึง ท่านก็ให้พระเหล่านั้นกลับไป กระทั่งรุ่งเช้าวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2505 หลังจากที่ท่านสวดมนต์ไหว้พระเสร็จแล้ว ก็ล้มตัวลงนอนและละสังขารไปด้วยอาการสงบ สิริอายุได้ 97 ปี และบวชเรียนมา 74 พรรษา

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *