ครบรอบ 43 ปี มรณกาล ‘พระครูสุภาณีวิทยาคุณ’ หลวงพ่อเวก วัดลาดศรัทธาราม ย้อนตำนานเกจิอาจารย์ดังเมืองเพชรบุรี
ครบรอบ 43 ปี มรณกาล ‘พระครูสุภาณีวิทยาคุณ’ หลวงพ่อเวก วัดลาดศรัทธาราม ย้อนตำนานเกจิอาจารย์ดังเมืองเพชรบุรี
วันที่ 6 พฤษภาคม 2568 เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่ลูกศิษย์ลูกหาและพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดเพชรบุรี โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอบ้านลาด จะร่วมกันน้อมรำลึกถึงครบรอบ 43 ปี แห่งการละสังขารของ พระครูสุภาณีวิทยาคุณ หรือที่รู้จักกันในนาม หลวงพ่อเวก วุฑฒิปัญโญ อดีตเจ้าอาวาสวัดลาดศรัทธาราม ต.บ้านลาด อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี และยังเป็นอดีตพระเกจิอาจารย์ชื่อดังอีกรูปหนึ่งของจังหวัดเพชรบุรี ที่มีผู้ให้ความเลื่อมใสศรัทธาจำนวนมาก วัตถุมงคลของท่าน โดยเฉพาะพระเครื่อง ยังคงเป็นที่เสาะแสวงหาและเชื่อถือได้ในประสบการณ์ จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็นหนึ่งในตำนานพระเครื่องเมืองเพชรบุรี
หลวงพ่อเวก มีนามเดิมว่า เวก คุ้มจินดา มีพื้นเพเดิมเป็นชาวอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เกิดเมื่อวันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2452 เป็นบุตรของนายพุฒ และนางเหมือน คุ้มจินดา ในช่วงเวลาหนึ่งครอบครัวของท่านได้ย้ายถิ่นฐานไปประกอบอาชีพที่คลองจินดา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เป็นเวลานาน ทำให้ประวัติในช่วงต้นของท่านในพื้นที่เพชรบุรีไม่ได้มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานมากนัก
ท่านได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ด้วยการเข้าพิธีอุปสมบทเมื่อปี พ.ศ.2472 ณ วัดจินดาราม อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม โดยมีพระราชธรรมาภรณ์ หรือ หลวงพ่อเงิน จันทสุวัณโณ วัดดอนยายหอม พระเกจิชื่อดังแห่งยุค เป็นพระอุปัชฌาย์
ตลอดระยะเวลาแห่งการครองสมณเพศ หลวงพ่อเวกตั้งมั่นอยู่ในพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด มีความเลื่อมใสศรัทธา และมีความตั้งใจใฝ่รู้ขยันหมั่นเพียรศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย วิปัสสนากัมมัฏฐาน รวมถึงศาสตร์ต่างๆ จากหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์และอาจารย์ของท่าน จนมีความรอบรู้ชำนาญแตกฉานในศาสตร์ต่างๆ ตามแบบอย่างของครูบาอาจารย์
นอกจากความแตกฉานด้านพระธรรมวินัยแล้ว ในช่วงราวปี พ.ศ.2480 ซึ่งเป็นช่วงที่หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ได้เริ่มจัดสร้างวัตถุมงคล พระบารมีสิบทัศ หลวงพ่อเวกก็ได้ศึกษาวิชาการจัดสร้างพระบารมีสิบทัศจากหลวงพ่อเงินอย่างละเอียดลึกซึ้งและจนแตกฉาน
ต่อมาท่านได้ย้ายมาจำพรรษา ณ วัดเกาะแก้วสุทธาราม ต.ท่าราบ อ.เมือง จ.เพชรบุรี ตามคำนิมนต์ของพระที่เป็นญาติผู้ใหญ่ หลังจากนั้นไม่นานตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดลาดศรัทธารามได้ว่างลง ด้วยวัตรปฏิบัติอันงดงามของหลวงพ่อเวกที่ชาวบ้านได้พบเห็น จึงพร้อมใจกันนิมนต์ท่านไปเป็นเจ้าอาวาส
เมื่อเข้ารับตำแหน่งเจ้าอธิการวัดลาดศรัทธาราม ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระปลัด และในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2499 ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่สูงขึ้นเป็นพระครูสัญญาบัตรในราชทินนามว่า “พระครูสุภาณีวิทยาคุณ”
ในฐานะเจ้าอาวาส หลวงพ่อเวกได้ประพฤติตนตั้งมั่นอยู่ในธรรมวินัย สร้างคุณูปการมากมายแก่วัดและชุมชน ตลอดจนก่อสร้างบูรณปฏิสังขรณ์พัฒนาถาวรวัตถุศาสนสถาน เพื่อสืบต่อพระศาสนา และเป็นประโยชน์ต่อพระสงฆ์ สามเณร และพุทธบริษัทต่างๆ มากมาย จนเป็นที่เลื่อมใสและได้รับความเคารพจากศิษยานุศิษย์และชาวบ้านในพื้นที่
หนึ่งในผลงานสำคัญด้านการพัฒนาวัดคือ ในปี พ.ศ.2512 ท่านได้จัดสร้างพระพุทธรูปประจำวัดลาดศรัทธาราม นามว่า พระพุทธหิรัญราช ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธศิลป์งดงาม องค์พระนั่งขัดสมาธิในปางสมาธิ พระหัตถ์เบื้องขวาห้อยพาดบนพระชานุ (เข่า) หันฝ่าพระหัตถ์ไปข้างหน้า พระหัตถ์ซ้ายพาดแบอยู่บนพระเพลา (หน้าตัก) และวางไว้ด้วยโถน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ โดยได้รับความเมตตาจากหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ผู้เป็นอาจารย์ มาเป็นองค์ประธานในการเททองหล่อ
ด้านวัตถุมงคล หลวงพ่อเวกได้จัดสร้างไว้มากมายหลายรุ่น อาทิ พระผงรุ่นต่างๆ แต่ที่ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง คือ พระบารมีสิบทัศพระพุทธหิรัญราช ซึ่งท่านได้รับความเมตตาแนะนำจากหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ผู้เป็นอาจารย์ ให้จัดสร้างขึ้น ท่านจึงได้เสาะหาและรวบรวมมวลสารต่างๆ เพื่อนำมาสร้างพระ ซึ่งสามารถหามวลสารมาได้ครบถ้วนตามตำราโบราณ
พระพุทธหิรัญราช พิมพ์บารมีสิบทัศ วัดลาดศรัทธาราม จัดสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ.2490 ถึง 2500 โดยมีหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ผู้เป็นอาจารย์ มาเป็นประธานในพิธีและร่วมปลุกเสก มีสัณฐานองค์ขนาดใหญ่เป็นทรงคล้ายห้าเหลี่ยม มี 2 พิมพ์ คือ พิมพ์ป้อม และพิมพ์ชะลูด ด้านบนมีพระพุทธรูปประทับยืน 5 องค์ เป็นวัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในหมู่นักสะสมและผู้ศรัทธา
หลวงพ่อเวก ดำรงตนอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ เป็นศูนย์รวมแห่งความเคารพศรัทธาของชาวเพชรบุรีและพื้นที่ใกล้เคียงนานกว่า 50 ปี กระทั่งท่านได้มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อวันอังคารที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2523 สิริอายุได้ 72 ปี พรรษาที่ 50
แม้เวลาจะผ่านไป 43 ปีนับจากวันที่ท่านจากไป แต่คุณงามความดี คุณูปการที่ท่านได้สร้างไว้ และวัตถุมงคลที่ท่านได้สร้างและปลุกเสก ยังคงเป็นที่ระลึกถึงและเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของลูกศิษย์ลูกหาและผู้ศรัทธาอย่างไม่เสื่อมคลาย