น้อมรำลึก 143 ปี “หลวงพ่อเจียง วัณณสโร” ยอดเกจิดังผู้ปลุกเสกพระพุทธชินราชอินโดจีน
วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่พุทธศาสนิกชนและศิษยานุศิษย์ทั่วสารทิศร่วมกันน้อมรำลึกถึงวันครบรอบ 143 ปี ชาตกาล ของ “พระเทพสังวรวิมล” หรือที่รู้จักกันดีในนาม “หลวงพ่อเจียง วัณณสโร” อดีตเจ้าอาวาสวัดเจริญสุขารามวรวิหาร อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม หนึ่งในยอดพระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งยุค ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญและเป็นที่เคารพศรัทธามาอย่างยาวนาน
หลวงพ่อเจียง วัณณสโร เกิดเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2425 ที่บ้านคลองกระจ่า ตำบลตาหลวง อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี มีนามเดิมว่า เจียง ลิ้มฮะสุน เป็นบุตรของนายเก และนางกลิบ ลิ้มฮะสุน ในวัยเด็ก ท่านได้รับการส่งเสียให้ร่ำเรียนหนังสือที่วัดเจริญสุขาราม ซึ่งในสมัยนั้นชาวบ้านนิยมเรียกกันว่าวัดกลางคลอง หรือบางครั้งก็เรียกว่าวัดต้นชมพู่ โดยมีหลวงพ่ออาจ เป็นผู้ให้การอบรมสั่งสอน
เมื่อถึงวัยอันสมควร ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดเจริญสุขาราม โดยมีพระครูปรีชาวิหารกิจ (ช่วง) วัดโชทายิการาม เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการอาจ (หลวงตามืด) วัดเจริญสุขารามฯ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระธรรมวิรัตสุนทร (หลวงพ่อเชย) วัดโชติทายการาม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาทางธรรมว่า “วัณณสโร”
หลังจากอุปสมบท หลวงพ่อเจียงได้ศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างลึกซึ้ง นอกจากนี้ยังมีความสนใจในทางวิปัสสนาธุระและแพทย์แผนโบราณ จึงได้ศึกษาต่อยอดจากพระอุปัชฌาย์และพระคู่สวดของท่าน ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ทรงความรู้ความเชี่ยวชาญในยุคนั้น อีกทั้งท่านยังได้เดินทางไปศึกษาวิทยาคมจากหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นเกจิอาจารย์ชื่อดังอีกท่านหนึ่ง
ด้วยวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยและคุณธรรมที่โดดเด่น ในปี พ.ศ.2453 หลังจากพระอธิการอาจมรณภาพลง คณะสงฆ์ได้เห็นสมควรแต่งตั้งให้หลวงพ่อเจียงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเจริญสุขารามสืบแทน
วัดเจริญสุขารามวรวิหาร ตั้งอยู่ริมคลองบางนกแขวก (คลองดำเนินสะดวก) ตำบลบางนกแขวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ในอดีต วัดแห่งนี้มีการเปลี่ยนชื่อเรียกหลายครั้งตามสภาพแวดล้อม โดยในปี พ.ศ.2451 กระทรวงเกษตราธิการได้สร้างประตูน้ำบางนกแขวกขึ้น จึงมีชื่อเรียกวัดใหม่ว่า วัดประตูน้ำบางนกแขวก ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นวัดเจริญสุขารามในเวลาต่อมา หลวงพ่อเจียงได้พัฒนาวัดอย่างต่อเนื่อง สร้างศาสนวัตถุและสาธารณประโยชน์มากมาย อาทิ โบสถ์ และโรงเรียนเมธีชุณหะวัณ ท่านได้สร้างวัดเจริญสุขารามฯ จนได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ซึ่งถือเป็นวัดแห่งที่ 3 ของจังหวัดสมุทรสงคราม
ในด้านสมณศักดิ์ หลวงพ่อเจียงได้รับการแต่งตั้งและเลื่อนสมณศักดิ์มาโดยลำดับ ตั้งแต่เป็นพระครูปลัดของพระเทพกวี เจ้าคณะมณฑลราชบุรี ในปี พ.ศ.2469 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูอัตตโกศล และเป็นพระอุปัชฌาย์ ในปี พ.ศ.2470 หลังจากได้รับตำแหน่งพระอุปัชฌาย์ ชาวบ้านบางนกแขวกได้นำบุตรหลานมาขอบรรพชาอุปสมบทกับท่านเป็นจำนวนมาก แสดงถึงความเลื่อมใสศรัทธาที่มีต่อท่าน ท่านเป็นพระที่พูดจริงทำจริง เคร่งครัดต่อพระธรรมวินัย มีผู้ที่เลื่อมใสและมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย หนึ่งในจำนวนลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นคือ จอมพลผิน ชุณหะวัณ
ต่อมาท่านได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นรองเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงคราม ในปี พ.ศ.2480 ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระเมธีสมุทรเขตต์ ในปี พ.ศ.2490 และได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพสังวรวิมล ในปี พ.ศ.2507 ซึ่งเป็นสมณศักดิ์สุดท้ายของท่าน
หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์พุทธศาสนาที่หลวงพ่อเจียงมีส่วนร่วม คือการได้รับนิมนต์ให้เข้าร่วมพิธีปลุกเสก พระพุทธชินราช อินโดจีน ซึ่งจัดขึ้นในปี พ.ศ.2485 ณ วัดสุทัศนเทพวราราม เพื่อแจกจ่ายให้แก่ทหารและประชาชนที่ต้องเผชิญกับภัยสงครามโลกครั้งที่ 2 พิธีนี้มีเจ้าพิธีคือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสสเทโว) และได้นิมนต์พระเกจิอาจารย์ชื่อดังจากทั่วประเทศเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงความขลังและความเชื่อมั่นในพลังจิตของหลวงพ่อเจียง
หลวงพ่อเจียงได้สร้างวัตถุมงคลไว้เป็นที่ระลึกหลายอย่าง เช่น ตะกรุด เหรียญรุ่นต่างๆ รวมถึง พระแก้วมรกตจำลอง ซึ่งพระแก้วนี้ลูกศิษย์ของท่านที่อยู่ต่างประเทศจัดสร้างถวาย โดยรุ่นแรกสั่งทำจากประเทศอิตาลีประมาณปี พ.ศ.2490-91 ประมาณ 300 องค์ เป็นพระที่ทำจากแก้วสีเขียวมรกต ท่านได้เมตตาปลุกเสกให้ เรื่องราวการปลุกเสกพระแก้วนี้เป็นที่กล่าวขานกันมากในหมู่ลูกศิษย์ โดยมีเรื่องเล่าถึงความน่าอัศจรรย์ว่า ขณะที่ท่านปลุกเสกโดยจับที่บาตรที่ใส่พระแก้วไว้ คนที่อยู่ในพิธีได้ยินเสียงของแก้วกระทบกันเสียงดัง เหมือนว่าพระแก้วนั้นกำลังหมุนวนหรือวิ่งอยู่ในบาตร สร้างความเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็นยิ่งนัก นอกจากวัตถุมงคลที่ท่านสร้างขึ้นเองแล้ว ท่านยังได้นำพระเครื่องต่างๆ ที่ได้รับจากการเดินทางไปร่วมพิธีพุทธาภิเษกตามสถานที่ต่างๆ มาแจกให้แก่ลูกศิษย์อีกด้วย
หลวงพ่อเจียง วัณณสโร ได้มรณภาพลงเมื่อปี พ.ศ.2514 สิริอายุรวม 89 ปี พรรษา 69 การละสังขารของท่านนับเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญ แต่คุณงามความดี วัตรปฏิบัติอันงดงาม และวัตถุมงคลที่ท่านสร้างไว้ ยังคงเป็นที่เคารพสักการะและอยู่ในความทรงจำของพุทธศาสนิกชนตลอดมา.