เปิดตำนาน ‘หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ’ ผู้สร้างธรรม และ ‘พระผงของขวัญ’ รุ่นดัง

วัดปากน้ำภาษีเจริญ มีชื่อเสียงโด่งดังมายาวนานในฐานะสำนักการศึกษาพระพุทธศาสนา ทั้งด้านการปริยัติ (คันถธุระ) และการปฏิบัติ (วิปัสสนาธุระ) ความรุ่งเรืองนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากบารมีและปฏิปทาอันงดงามของ “พระมงคลเทพมุนี” หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “หลวงพ่อสด จันทสโร” อดีตเจ้าอาวาสผู้เป็นที่เคารพศรัทธา

หลวงพ่อสด ถือกำเนิดในตระกูล “มีแก้วน้อย” ณ บ้านสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2427 ชีวิตในวัยเยาว์ ท่านได้เริ่มศึกษาเล่าเรียนกับพระภิกษุน้าชายที่วัดสองพี่น้อง และต่อยอดด้วยการศึกษาอักษรขอมที่วัดบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ภายใต้การดูแลของพระอาจารย์ทรัพย์ จนมีความเชี่ยวชาญในการอ่านเขียนอักษรขอมเป็นอย่างดี

หลังจากจบการศึกษาเบื้องต้น ท่านได้ออกมาช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพค้าขาย ด้วยความที่เป็นคนรักงาน ขยันขันแข็ง และทำอะไรทำจริง การค้าขายข้าวบรรทุกเรือจึงเจริญรุ่งเรือง ทำให้ครอบครัวมีฐานะดีขึ้นเป็นลำดับ

เมื่ออายุย่างเข้า 22 ปี ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2449 หลวงพ่อสดได้ตัดสินใจเข้าสู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ณ วัดสองพี่น้อง โดยมีพระอาจารย์ดี วัดประตูสาร เป็นพระอุปัชฌาย์ และมีพระครูวินยานุโยค (เหนียง อินทโชโต) กับพระอาจารย์โหน่ง อินทสุวัณโณ แห่งวัดสองพี่น้อง เป็นพระคู่สวด

หลังจำพรรษาแรกที่วัดสองพี่น้อง ท่านได้เดินทางเข้ามากรุงเทพมหานคร เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยอย่างจริงจังที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ด้วยความมุ่งมั่น ท่านต้องเดินทางไปศึกษากับอาจารย์ตามวัดต่างๆ ในแต่ละวัน เช้าข้ามฟากไปวัดอรุณราชวราราม ฉันเพลที่วัดโพธิ์ บ่ายไปวัดมหาธาตุฯ เย็นไปวัดสุทัศน์บ้าง วัดจักรวรรดิบ้าง ส่วนกลางคืนก็เรียนที่วัดโพธิ์ แม้การเดินทางจะลำบาก แต่ท่านก็ไม่เคยท้อแท้ ตั้งใจศึกษาจนเข้าใจในหลักสูตรต่างๆ เป็นอย่างดี

แม้ท่านจะไม่ได้เข้าสอบแปลในสนามหลวง เพราะไม่ถนัดการเขียน แต่ท่านให้ความสำคัญและส่งเสริมการศึกษาอย่างยิ่ง โดยกล่าวเสมอว่า “การศึกษานั้นเปลี่ยนชีวิตผู้ศึกษาให้สูงกว่าพื้นเดิม คนที่มีการศึกษาดีจะได้อะไรก็ดีกว่า ประณีตกว่าผู้อื่น คนมีวิชาเท่ากับได้สมบัติใช้ไม่หมด”

จากนั้น ท่านก็มุ่งเน้นการปฏิบัติธรรม ควบคู่ไปกับการศึกษาภาคปฏิบัติกับครูบาอาจารย์หลายท่าน อาทิ พระมงคลทิพมุนี (มุ้ย) วัดจักรวรรดิ, พระครูฌานวิรัติ (โป๊) วัดพระเชตุพนฯ, พระอาจารย์สิงห์ วัดละครทำ และพระอาจารย์ปลื้ม วัดเขาใหญ่ จังหวัดกาญจนบุรี

เมื่อมีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งปริยัติและปฏิบัติพอสมควร หลวงพ่อสดก็ได้ออกจากวัดพระเชตุพนฯ เพื่อไปจำพรรษาและเผยแผ่ธรรมวินัยในต่างจังหวัด จนกระทั่งเมื่อตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญว่างลง สมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพนฯ ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอภาษีเจริญในขณะนั้น ได้ส่งท่านให้มาปกครองดูแลวัดปากน้ำฯ

ในฐานะเจ้าอาวาส หลวงพ่อสดเป็นผู้ปกครองที่พูดจริงทำจริง มีระเบียบวินัย แต่ท่านให้ความสำคัญสูงสุดกับการส่งเสริมด้านการศึกษาและการปฏิบัติทางจิตใจ ควบคู่กันไป กิจวัตรประจำวันของท่านคือการนำพระภิกษุ-สามเณรทำวัตรเช้า-เย็น ทุกวันพระและวันอาทิตย์จะลงแสดงธรรมในโบสถ์ด้วยตนเอง และควบคุมพระให้เข้าร่วมการนั่งภาวนารวมทั้งกลางวันและกลางคืน นอกจากนี้ ทุกวันพฤหัสบดี เวลาบ่ายสอง ท่านจะลงสอนการนั่งสมาธิให้กับพระภิกษุ-สามเณร อุบาสกอุบาสิกาด้วยตนเอง

ปฏิปทาของท่านเน้นการเดินสายกลาง ไม่ยึดติดในลาภสักการะเพื่อตนเอง แต่ขวนขวายเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ในปี พ.ศ. 2500 ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามที่ “พระมงคลเทพมุนี”

หลวงพ่อสด จันทสโร มรณภาพอย่างสงบ ณ ตึกมงคลจันทสร วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เมื่อปี พ.ศ. 2502 สิริอายุ 75 ปี 53 พรรษา

หนึ่งในสิ่งที่สร้างชื่อเสียงและเป็นที่จดจำของหลวงพ่อสด คือ “พระผงของขวัญวัดปากน้ำ” ซึ่งท่านสร้างขึ้นเพื่อมอบเป็นของขวัญให้กับผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคทุนทรัพย์ในการก่อสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม นับเป็นการบอกบุญครั้งสำคัญและมอบพระเป็นที่ระลึก จึงเป็นที่มาของชื่อ “พระผงของขวัญ”

พระผงของขวัญนี้สร้างจากเนื้อผง ประกอบด้วยวัตถุมงคลต่างๆ โดยมีส่วนผสมหลักคือผงปูนและผงวิเศษที่ได้จากการเขียนยันต์ตามตำรับ เช่น ผงมหาราช ผงอิทธิเจ ผงปถมัง นอกจากนี้ ยังมีมวลสารมงคลอื่นๆ อาทิ ดอกมะลิแห้งที่ใช้บูชา เส้นพระเกศา (เส้นผม) ของหลวงพ่อสด เป็นต้น

โดยเฉพาะ “พระผงของขวัญรุ่นแรก” มีลักษณะเป็นพระเนื้อผงสีขาวนวล เนื้อองค์พระจะแห้งนุ่มนวลคล้ายจะยุ่ย ไม่แข็งแกร่ง และอาจละลายได้ง่ายเมื่อถูกน้ำ องค์พระอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม ด้านหน้าเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปางประทานพร ยกพระหัตถ์ขวาขึ้นแสดง “มุทรา” เห็นพระดัชนี (นิ้วชี้) ชัดเจน ประทับนั่งเหนือบัลลังก์บัวคว่ำบัวหงาย ภายใต้ซุ้มเรือนแก้วที่มีเส้นรัศมีกระจายออกในแนวขวาง สื่อถึงฉัพพรรณรังสี ส่วนด้านหลังองค์พระ มียันต์เป็นอักษรขอม อ่านได้ว่า “ธรรมขันธ์” ซึ่งพระผงของขวัญนี้เองที่ปรากฏประสบการณ์มากมายเป็นที่เลื่องลือในหมู่ลูกศิษย์และผู้ศรัทธามาจนถึงปัจจุบัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *