เปิดตำนาน ‘พระเครื่องยอดนิยม’ ที่นักสะสมต่างแสวงหา

ในวงการนักสะสมพระเครื่องของไทย วัตถุมงคลจากพระเกจิอาจารย์ชื่อดังหลายรูปยังคงเป็นที่ต้องการและมีมูลค่าสูงอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงเพราะพุทธคุณ แต่ยังรวมถึงความงดงามตามแบบฉบับงานพุทธศิลป์ วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับ ‘พระเครื่องยอดนิยม’ ที่ถูกกล่าวขานถึงและเป็นที่เสาะแสวงหาในหมู่นักนิยมสะสม

‘พระปิดตาหลวงพ่อทับ วัดสุวรรณาราม (วัดทอง)’ ถือเป็นหนึ่งในชุดเบญจภาคีพระปิดตามหาอุตม์เนื้อโลหะที่ลือลั่น มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือองค์พระนั่งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ที่ล้วงปิดทวารจะล้วงจากด้านใน ไม่ผ่านหน้าแข้ง ทำให้เห็นกิริยาขัดสมาธิเพชรได้ชัดเจน หรือที่เรียกว่า ‘โยงก้นด้านใน’ ด้านข้างองค์พระไม่มีรอยตะเข็บเนื่องจากการสร้างด้วยวิธีปั้นหุ่นเทียนขี้ผึ้งทีละองค์ แล้วจึงประกอบดินเหนียวด้านนอก ก่อนจะเทโลหะหลอมละลายเข้าไปทางก้น ทำให้เทียนละลายออก เหลือไว้เพียงรูปองค์พระ แบ่งพิมพ์ใหญ่ได้ 4 พิมพ์ คือ พิมพ์นั่งบัว, พิมพ์บายศรี, พิมพ์ตุ๊กตา และพิมพ์ยันต์ยุ่ง ซึ่งทุกพิมพ์ล้วนเป็นที่ต้องการอย่างมาก

‘เหรียญที่ระลึก ๙๐ ปี หลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์’ จัดสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2520 เพื่อเป็นที่ระลึกครบรอบ ๙๐ ปี หลวงปู่ดูลย์ พระวิปัสสนาจารย์สายอีสานที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธา เหรียญมีลักษณะทรงรูปไข่ ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนครึ่งองค์หันด้านข้าง พร้อมข้อความ ‘พระรัตนากรวิสุทธิ์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)’ ส่วนด้านหลังเป็นรูปเครื่องอัฐบริขาร ตรงกลางมีข้อความด้านบนว่า ‘วัดบูรพาราม สุรินทร์’ และด้านล่างว่า ‘ครบรอบ ๙๐ ปี’ จัดสร้างทั้งหมด 3 เนื้อ คือ เนื้อทองคำ, เนื้อเงิน และเนื้อทองแดง ซึ่งปัจจุบันเป็นที่เสาะแสวงหาของนักสะสม

‘เหรียญมหาปราบหลวงปู่ศุข รุ่นแรก วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท’ จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2555 โดยพระราชสุทธิโสภณ (ประทวน ปภากโร) ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดชัยนาทและเจ้าอาวาสวัดปากคลองมะขามเฒ่า เพื่อแจกจ่ายแก่ญาติโยมที่มาร่วมงานทำบุญคล้ายวันมรณภาพหลวงปู่ศุข เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เหรียญมีลักษณะคล้ายสมอเรือหรือน้ำเต้า มีหูห่วง จัดสร้างเป็นเนื้อเงินและเนื้อทองแดง ด้านหน้าเป็นรูปนูนหลวงปู่ศุขยืนถือไม้เท้าอยู่กลางยันต์ 108 ด้านล่างมีโบและข้อความชื่อหลวงปู่ ส่วนด้านหลังมีอักขระขอมและยันต์มหาปราบ พร้อมรูปหนุมาน 8 กร จัดเป็นเหรียญยอดนิยมของชาวเมืองชัยนาท

วัตถุมงคลเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ แต่ยังเป็นเครื่องยืนยันถึงศรัทธาและความเคารพต่อพระเกจิอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์พุทธศิลป์ไทยที่ยังคงมีชีวิตชีวาอยู่ในปัจจุบัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *