รัฐบาลเดินเกมส์รักษาเสถียรภาพแรงงานไทย! ครม. ผ่อนผันใบอนุญาตแรงงานลาว-เวียดนาม ขยายเวลาอยู่ต่อถึง พ.ค. 68
เมื่อพูดถึงแรงงานข้ามชาติในสายตาคนบางกลุ่มอาจมีมุมมองและทัศนคติที่ต่างออกไป บ้างมองถึงการแข่งขันกับแรงงานไทย บ้างก็มองถึงการเป็นภาระต่อสังคม แต่หากมองให้ลึกและรอบด้านจะพบว่าแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและเวียดนาม คือ “แรงงานคุณภาพ” ที่เข้ามาเติมเต็มตลาดแรงงานไทยในหลายภาคส่วน ทั้งภาคการผลิต ธุรกิจบริการ ร้านค้าปลีก ไปจนถึงการดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในภาค SME ที่ต้องพึ่งพากำลังแรงงานเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง
แรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ไม่เพียงแต่มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจฐานราก แต่ยังเป็นฟันเฟืองที่ช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว หากขาดแรงงานกลุ่มนี้เพียงชั่วขณะหนึ่ง ธุรกิจจำนวนไม่น้อยอาจหยุดชะงัก โดยเฉพาะจากสถานการณ์ใบอนุญาตทำงานจำนวนมากที่หมดอายุในช่วงที่ผ่านมา หากไม่มีมาตรการรองรับทันเวลา ก็อาจนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและการจ้างงานผิดกฎหมายในวงกว้าง
ในฐานะหน่วยงานหลักด้านแรงงานของประเทศ กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน มีภารกิจสำคัญในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้เข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งเพื่อรักษาเสถียรภาพแรงงานในประเทศ และป้องกันปัญหาการจ้างงานผิดกฎหมายที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว การขับเคลื่อนนโยบายเชิงรุกผ่านมาตรการผ่อนผันในครั้งนี้ จึงสะท้อนเจตนารมณ์ของภาครัฐในการสร้างสมดุลระหว่างการดูแลแรงงานกับการรักษาความแข็งแกร่งของระบบเศรษฐกิจในภาพรวม
รัฐบาลเดินเกมแรงงานรอบด้าน: ผ่อนผันเพื่อความมั่นคงทั้งระบบ
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลมองเห็นความสำคัญของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศ CLMV คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในหลากหลายมิติ โดยต้องไม่ปล่อยให้แรงงานเหล่านี้หลุดจากระบบโดยไม่จำเป็น ซึ่งตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 ได้มีมติให้ผ่อนผันแรงงานต่างด้าวสัญชาติลาวและเวียดนาม ที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุ ให้สามารถอยู่และทำงานต่อในราชอาณาจักรไปจนถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2568
ท่านรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า มติดังกล่าวไม่ใช่แค่เพื่อประโยชน์ของแรงงาน แต่เป็นการ “รักษาเสถียรภาพแรงงานของทั้งระบบ” เพราะหากแรงงานเหล่านี้หลุดออกจากระบบ จะเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ ทั้งในมิติของนายจ้าง เศรษฐกิจฐานราก ไปจนถึงความมั่นคงของธุรกิจขนาดเล็ก โดยมติ ครม. ครั้งนี้ยังรวมถึงการผ่อนผันแรงงานสัญชาติกัมพูชาและเมียนมาอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งนายจ้างได้ยื่นรายชื่อไว้ก่อนวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 โดยสามารถอยู่ต่อและทำงาน รวมทั้งดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตทำงานได้ถึง 13 สิงหาคม 2568 และเมื่อดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตทำงานแล้ว จะได้รับอนุญาตให้ทำงานได้ถึงปี 2570 และขยายได้อีก 2 ปี สะท้อนว่ารัฐบาลไม่เพียงหวัง “เก็บแรงงานไว้ในระบบ” เท่านั้น แต่ยังวางแผนให้แรงงานกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้สามารถอยู่และทำงานในไทยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงช่วยยกระดับมาตรฐานแรงงานของประเทศในระยะยาว
ดึงแรงงานคุณภาพให้คงอยู่ระบบ เสริมความมั่นคงตลาดแรงงานไทย
ด้าน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเสริมว่า มาตรการครั้งนี้ไม่ใช่แค่โอกาสของแรงงานข้ามชาติ แต่ยังเป็นโอกาสของระบบแรงงานไทยในการดึงแรงงานคุณภาพกลับเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง โปร่งใส พร้อมทั้งช่วยให้แรงงานข้ามชาติสามารถทำงานหารายได้เลี้ยงชีพได้โดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ยังเป็นหลักประกันว่าแรงงานเหล่านี้สามารถเข้าถึงสิทธิและความคุ้มครองทางกฎหมายอีกด้วย
นายจ้างและแรงงานสัญชาติลาวและเวียดนามที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุ สามารถดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตทำงานตาม 5 ขั้นตอนสำคัญ ดังนี้:
- นายจ้างยื่นบัญชีรายชื่อ ผ่านเว็บไซต์ workpermit2024.doe.go.th
- แรงงานเข้ารับการตรวจโรคต้องห้าม และทำประกันสุขภาพ หรือขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน
- นายจ้างยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนแรงงาน (บต.33) พร้อมชำระค่าธรรมเนียม 1,000 บาท
- แรงงานไปขอรับการตรวจลงตรา (วีซ่า) ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พร้อมหนังสือเดินทางและเอกสารจากกรมการจัดหางาน
- นายจ้างนำเอกสารการตรวจลงตรา (วีซ่า) กลับมายื่นอีกครั้ง ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด ทุกจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10
โดยเมื่อดำเนินการครบถ้วนตาม 5 ขั้นตอนแล้ว แรงงานกลุ่มนี้จะได้รับอนุญาตให้ทำงานในราชอาณาจักรได้ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2569 ทั้งนี้ ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตทำงานฉบับจริง สามารถใช้ทะเบียนใบอนุญาตทำงานเป็นหลักฐานแทนใบอนุญาตทำงานไปพลางก่อนได้
“กรมการจัดหางานขอความร่วมมือให้นายจ้างและผู้ประกอบการเร่งดำเนินการขออนุญาตต่ออายุทำงานแรงงานกลุ่มลาวและเวียดนามให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 นี้ พร้อมเน้นย้ำว่าอย่ามองว่าการดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวเป็นภาระ แต่คือโอกาสในการรักษาทั้งแรงงาน และเสถียรภาพของธุรกิจคุณให้ดำเนินการต่อไปได้แบบไม่สะดุด โดยหากนายจ้างและลูกจ้างยิ่งดำเนินการเร็ว แรงงานก็ยิ่งอยู่ในระบบเร็ว และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” นายสมชาย กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับนายจ้างและแรงงานที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัด ทุกจังหวัด, สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 – 10, สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือ สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694 (ตลอด 24 ชั่วโมง)