วันแรงงาน: ‘สรส.-สสรท.’ นำขบวนแรงงานบุกทำเนียบฯ ยื่น 7 ข้อเร่งด่วน ทวงค่าแรง 492 บาททั่วประเทศ

กรุงเทพฯ – เนื่องในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2568 สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) พร้อมด้วยกลุ่มแรงงานจำนวนมาก ได้รวมตัวเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล โดยเรียกร้องให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 492 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ได้ยื่นมาอย่างต่อเนื่องหลายปีแต่ยังไม่มีความคืบหน้า พร้อมกันนี้ ยังได้ยื่นข้อเสนอเร่งด่วนอีก 7 ข้อ

ก่อนเริ่มขบวน กลุ่มแรงงานได้ร่วมกันประกอบพิธีไว้อาลัยและวางดอกไม้สีขาวบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์อาคารถล่มบริเวณสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์คัดค้านนโยบายกาสิโน และสะท้อนปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น

ขบวนแรงงานได้เริ่มเคลื่อนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในเวลาประมาณ 10.20 น. และมาถึงบริเวณประตู 5 ทำเนียบรัฐบาลในเวลา 11.10 น. โดยได้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ นำค้อนโฟมทุบโมเดลกาสิโน และโมเดลถังแก๊ส เพื่อแสดงการคัดค้านร่างกฎหมายเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ และสะท้อนความเดือดร้อนจากค่าครองชีพและราคาพลังงานที่สูงขึ้น

เวลา 11.40 น. ตัวแทนกลุ่มแรงงาน นำโดย นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน สสรท. และนายมานพ เกื้อรัตน์ เลขาธิการ สรส. ได้อ่านแถลงการณ์และยื่นข้อเรียกร้องต่อ นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็นผู้มารับหนังสือข้อเรียกร้องดังกล่าว

สำหรับข้อเรียกร้องเร่งด่วน 7 ข้อ มีดังนี้:

  • 1. คัดค้านร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือ ร่างกฎหมายเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
  • 2. หยุดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ และให้รัฐวิสาหกิจทำหน้าที่จัดบริการสาธารณะเพื่อประชาชน
  • 3. รัฐต้องเร่งรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 155 ว่าด้วยความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงาน พ.ศ.2524
  • 4. รัฐต้องวางมาตรการเข้มข้นเพื่อหยุดการคอร์รัปชันทุกรูปแบบ รวมถึงตรวจสอบการจัดซื้อและการใช้เงินของสำนักงานประกันสังคม
  • 5. รัฐต้องสนับสนุนสถานประกอบการคนไทย เข้มงวดตรวจสอบคัดกรองกลุ่มทุน นอมินี ทั้งในและต่างประเทศ
  • 6. รัฐต้องเร่งช่วยเหลือเยียวยาแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอาคาร สตง. ถล่มเป็นการเร่งด่วน
  • 7. รัฐต้องมีมาตรการดำเนินการต่อกลุ่มทุนผูกขาดที่มีอำนาจเหนือรัฐ โดยเฉพาะในกิจการพลังงานและโทรคมนาคม รวมถึงยกเลิกการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน

นอกจากข้อเรียกร้องเร่งด่วนแล้ว ยังมีการยื่นข้อเรียกร้องที่เป็นข้อเสนอเดิมจากหลายปีที่ผ่านมาอีก 15 ข้อ ซึ่งข้อเรียกร้องที่สำคัญและถูกเน้นย้ำคือ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 492 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน รวมถึงข้อเสนออื่นๆ เช่น การลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้ประชาชน, สนับสนุนร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดฉบับประชาชน, ปฏิรูปการประกันสังคม, จัดสวัสดิการถ้วนหน้า, ให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO เพิ่มเติม, ยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง, และการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ

ตัวแทนเครือข่ายแรงงานสตรี ยังได้ยื่นข้อเรียกร้องเพิ่มเติม คือ ขอสิทธิลาคลอด 180 วัน โดยได้รับค่าจ้าง 100%

ทางด้าน นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ข้อเรียกร้องหลายเรื่องมีความก้าวหน้าและบางเรื่องอาจยังไม่ก้าวหน้า แต่รัฐบาลยืนยันว่ารับฟังเสียงของพี่น้องแรงงานมาโดยตลอด และพร้อมที่จะนำข้อเรียกร้องทั้งหมดเข้าสู่การพิจารณาและการพูดคุยในอนาคต โดยเน้นย้ำว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของทุกคน และรัฐบาลพร้อมรับฟังทุกเสียง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่สนับสนุนหรือไม่สนับสนุนรัฐบาลก็ตาม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *