พลิกคำพูด ประธาน กกต.! ‘ไร้มูล’ สู่การบุกแจ้งข้อหาฮั้ว สว. 54 ราย
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา เกิดประเด็นร้อนขึ้นเมื่อมีรายงานข่าวเกี่ยวกับการเตรียมแจ้งข้อหาในคดีฮั้วการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ซึ่งเกี่ยวข้องกับความผิดตามกฎหมายการเลือกตั้ง โดยระบุว่าจะมีการแจ้งข้อหา สว. ชุดแรกในวันที่ 8 พฤษภาคม
อย่างไรก็ตาม นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกมาปฏิเสธข่าวนี้อย่างแข็งขัน โดยกล่าวว่า เป็นข่าวที่ “ไม่มีมูล” สร้างความสงสัยในหมู่สาธารณชนถึงความน่าเชื่อถือของข้อมูล
แต่แล้วในเช้าตรู่วันที่ 9 พฤษภาคม เหตุการณ์ก็พลิกผัน เมื่อเจ้าหน้าที่ของ กกต. พร้อมด้วยทีมจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้แบ่งสายกันนำหมายลงวันที่ 8 พฤษภาคม เข้าไปยื่นต่อ สว. ที่ถูกระบุว่าเข้าข่ายถูกแจ้งข้อหา เมื่อไม่พบตัว ก็มีการแปะหมายเรียกไว้ที่หน้าประตูที่พัก เพื่อให้บุคคลดังกล่าวเข้ารับทราบข้อกล่าวหา
การดำเนินการครั้งนี้กลายเป็นข่าวใหญ่ที่สร้างความเกรียวกราวไปทั่วประเทศ และจุดคำถามตามมาอย่างหนาหูว่า เหตุใดประธาน กกต. จึงปฏิเสธข่าวดังกล่าวอย่างแข็งขัน เพียงแค่ 2 วันก่อนการลงพื้นที่จริง มีการต้องการไม่ให้อีกฝ่ายไหวตัว หรือเป็นความลังเล ยื้อ หรือสาเหตุอื่นใดกันแน่?
ที่ผ่านมา กกต. ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความล่าช้าในการดำเนินการ หลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้สมัคร สว. จำนวนมาก ที่พบเห็นพฤติกรรมการฮั้วอย่างชัดเจน ความอืดอาดในการสืบสวนสอบสวนทำให้ผู้ร้องเรียนบางส่วนต้องหันไปพึ่งพา ดีเอสไอ เนื่องจากพฤติการณ์ฮั้วเข้าข่ายการกระทำความผิดทางอาญาด้วย นอกเหนือจากความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง
เมื่อ ดีเอสไอ เข้ามาตรวจสอบ ก็พบพยานหลักฐานที่มีน้ำหนัก และเริ่มเดินหน้ากระบวนการ ขณะที่ประชาชนทั่วไปต่างมองเห็นพยานหลักฐานการฮั้วอย่างโจ่งแจ้งตั้งแต่วันเลือก สว. ระดับประเทศ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกระดาษจดโพย การแต่งกายคล้ายกัน การเดินทางมาเป็นกลุ่มด้วยรถตู้พร้อมคนคุม หรือแม้แต่ข้อมูลที่ว่ามีการรวมตัวพักค้างคืนที่โรงแรมเพื่อเตรียมการก่อนวันเลือกตั้ง สิ่งเหล่านี้ดูเหมือน กกต. เพียงหน่วยงานเดียวที่มองไม่เห็น
นับตั้งแต่วันเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน 2567 กว่า กกต. จะออกหมายแจ้งข้อหา ก็ล่วงเลยมาเกือบ 11 เดือนแล้ว คำถามคือ หากไม่มีการร้องเรียนเพิ่มเติมไปยัง ดีเอสไอ และ ดีเอสไอ ไม่ได้นำพยานหลักฐานมาประสาน จนนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนร่วมกัน จนเกิดการแจ้งข้อหาล็อตแรก 54 รายในที่สุด กระบวนการของ กกต. เพียงลำพังจะมีความกระฉับกระเฉงเช่นนี้หรือไม่?
มองในอีกมุมหนึ่ง ความล่าช้าของ กกต. อาจส่งผลดีในแง่ที่ทำให้คดีขยายวงกว้างขึ้น เมื่อเรื่องไปถึงมือ ดีเอสไอ คดีก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา หรือกฎหมายเลือกตั้งทั่วไป แต่ขยายไปสู่ความผิดทางอาญาที่มีโทษจำคุก เช่น ความผิดฐานอั้งยี่ และอาจลามไปถึงข้อหาฟอกเงินด้วย
คดีที่ขยายวงกว้างขึ้นนี้ อาจไม่หยุดแค่ผู้สมัคร สว. เท่านั้น แต่อาจสาวไปถึงบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นจากเส้นทางการเงิน หรือจากการเข้าร่วมประชุมเตรียมการต่างๆ
ผู้ที่กำลังจะเดือดร้อนจากคดีในส่วนของ ดีเอสไอ ในตอนนี้ อาจกำลังโทษ กกต. ที่ยึกยักล่าช้ามากเกินไป จนทำให้คดีบานปลายกลายเป็นข้อหาหนัก และอาจนำไปสู่การเปิดโปงตัวการใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ก็เป็นได้