ก.อุตฯ เผยผลตรวจเหล็ก สตง. รอบใหม่ ‘ซิน เคอ หยวน’ ยังตกค่ามวลต่อเมตร ส่งดีเอสไอต่อ
กระทรวงอุตสาหกรรม เผยผลการตรวจสอบเหล็กเส้นที่เก็บเพิ่มเติมจากพื้นที่อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ถล่ม พบว่าเหล็กเส้นข้ออ้อยขนาด 20 มม. ยี่ห้อ ซิน เคอ หยวน (SKY) ยังคงตกค่าการทดสอบมวลต่อเมตร หรือ “เหล็กเบา” เช่นเดียวกับการตรวจสอบครั้งก่อน โดยกระทรวงฯ จะส่งผลการตรวจสอบนี้ให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการสืบสวนกรณีอาคาร สตง. ถล่มต่อไป
นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยความคืบหน้ากรณีการตรวจสอบคุณภาพเหล็กเส้นเพิ่มเติมจากพื้นที่อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่เกิดเหตุถล่ม โดยระบุว่า ตามที่นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ทีมตรวจการสุดซอยของกระทรวงฯ ร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินการเก็บตัวอย่างเหล็กเส้นเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ขณะนี้ผลตรวจสอบจากสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยได้ออกมาครบถ้วนแล้ว
ผลการตรวจสอบพบว่า มีเหล็กเส้นข้ออ้อยขนาด 20 มิลลิเมตร ชนิด SD40T ซึ่งผลิตด้วยกรรมวิธีเตาหลอมอินดักชัน (IF) ยี่ห้อ SKY จากผู้ผลิต บริษัท ซินเคอหยวน จำกัด ยังคงตกค่าการทดสอบมวลต่อเมตร (เหล็กเบา) เหมือนกับการทดสอบครั้งก่อนเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม 2568
นายพงศ์พล กล่าวว่า ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะส่งต่อผลการตรวจสอบครั้งนี้ให้กับดีเอสไอ เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบสำนวนในการสืบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีอาคาร สตง. ถล่ม ซึ่งการดำเนินการในส่วนนี้แยกจากการตรวจเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ผลิตในเรื่องมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ที่ได้มีการดำเนินการไปก่อนหน้าแล้ว โดยใช้หลักฐานตามผลตรวจครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568
โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม ย้ำว่า การตรวจสอบมาตรฐานของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เป็นไปตามมาตรฐานที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กำหนดไว้ ตกคือตก ผ่านคือผ่าน ซึ่งในรอบการตรวจเพิ่มเติมนี้ ผลตรวจพบเหล็กเส้นข้ออ้อยขนาด 20 มม. SD40T ของ บริษัท ซินเคอหยวน ยังตกค่ามวลต่อเมตร (เหล็กเบา) เหมือนรอบก่อน ส่วนเหล็กข้ออ้อยขนาด 32 มม. ที่เคยตกค่า Yield ในการตรวจสอบครั้งแรก รอบนี้ผ่านการทดสอบ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสในการตรวจที่ไม่มีการเลือกปฏิบัติจากภาครัฐ จากนี้ บริษัท ซินเคอหยวน คงต้องเตรียมคำตอบไว้ชี้แจงกับดีเอสไอโดยตรงต่อไป
นายพงศ์พล ยังกล่าวถึงภาพรวมการปราบปราม “อุตสาหกรรมศูนย์เหรียญ” ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เน้นย้ำการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังกับธุรกิจที่ไม่สร้างมูลค่าให้กับคนไทย โดยเฉพาะโรงงานที่ผลิตเหล็กราคาถูกแต่ตกมาตรฐาน ซึ่งตลอด 7 เดือนที่ผ่านมา ทีมตรวจการสุดซอยได้ดำเนินการยึดอายัดเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานมีมูลค่ารวมกว่า 384.4 ล้านบาท ซึ่งล้วนเป็นเหล็กเส้นสำหรับงานก่อสร้างที่ผลิตจากเตาหลอมอินดักชัน (IF) ทั้งสิ้น
จึงเชื่อได้ว่ากรรมวิธีผลิตด้วยเตาหลอมอินดักชันเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เนื้อเหล็กไม่ได้คุณภาพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้มีข้อสั่งการให้เสนอวาระเข้าที่ประชุมคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เพื่อพิจารณายกเลิกการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำหรับเหล็กที่ผลิตจากเตาหลอมอินดักชันต่อไปในอนาคต