นายกฯ สั่งการด่วน! เร่งแก้ไขปัญหาสารปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานในแม่น้ำกก สร้างความมั่นใจประชาชน
ทำเนียบรัฐบาล, 20 พฤษภาคม 2568 – จากสถานการณ์พบสารปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานในแม่น้ำกก สร้างความกังวลให้กับประชาชนในพื้นที่ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีข้อห่วงใยอย่างยิ่ง และได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยด่วน เพื่อสร้างความมั่นใจ ลดผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ในพื้นที่ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย โดยได้มุ่งประเด็นเบื้องต้นไปที่กิจกรรมการทำเหมืองในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา
นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พิจารณาสั่งการให้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งดำเนินการในส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามและรายงานความคืบหน้าในการจัดการแหล่งที่มาของปัญหา รวมถึงการเจรจาหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้มีการหยุดหรือปรับปรุงวิธีการทำเหมือง เพื่อป้องกันการระบายสารปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเสริมว่า หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแก้ไขปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ อาทิ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, กรมกิจการชายแดนทหาร, คณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำแม่น้ำระหว่างประเทศ ลุ่มน้ำโขงเหนือ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธาน เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2568
สำนักงานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้ใช้ข้อมูลดาวเทียมย้อนหลัง 8 ปี (2560–2568) พบว่ามีการเปิดหน้าดินในพื้นที่ประเทศเมียนมาเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงปี 2567-2568 และการวิเคราะห์ข้อมูลความขุ่น (turbidity) จากดาวเทียม ก็พบว่ามีความขุ่นเพิ่มขึ้นในบริเวณที่มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ ซึ่ง GISTDA ได้ส่งข้อมูลดังกล่าวให้กรมกิจการชายแดนทหาร และกรมควบคุมมลพิษดำเนินการต่อไป
หลายหน่วยงานยังได้เร่งบูรณาการความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาสารปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานในแม่น้ำกกในมิติต่างๆ ดังนี้:
1. ด้านการจัดการแหล่งที่มาของปัญหา: กรมควบคุมมลพิษเป็นหน่วยงานหลักในการประมวลผลและสังเคราะห์ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบ ร่วมกับกรมกิจการชายแดนทหาร, กรมเอเชียตะวันออก, GISTDA และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) นอกจากนี้ กพร. จะพิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือประเทศเมียนมาด้านการทำเหมืองที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อลดผลกระทบ โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกนำไปใช้ประกอบการเจรจาผ่านกรมกิจการชายแดนทหาร และกรมเอเชียตะวันออก
2. ด้านการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนในแหล่งน้ำและการบรรเทาผลกระทบ: เน้นการป้องกันการแพร่กระจายของโลหะหนัก และการจัดหาน้ำสะอาดสำหรับอุปโภค บริโภค และการประกอบอาชีพ มีแผนงานสำคัญคือ หน่วยทหารช่าง มีแผนจะดำเนินการขุดลอกแม่น้ำกก บริเวณหมู่บ้านธนารักษ์-สะพานย่องลี อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ระยะทาง 3 กิโลเมตร ขณะที่กรมควบคุมมลพิษกำลังศึกษาแนวทางการจัดการตะกอนในแม่น้ำ และการประปาส่วนภูมิภาคได้จัดเตรียมแผนการบริหารจัดการกรณีแหล่งน้ำผิวดินปนเปื้อนในระยะยาว
3. ด้านการเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสุขภาพ: หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเพิ่มความถี่ในการเก็บตัวอย่างน้ำ, ตะกอนดิน, สัตว์น้ำ, น้ำประปา, ผลิตผลทางการเกษตร และเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนในพื้นที่ โดยกรมควบคุมมลพิษจะเก็บตัวอย่างน้ำและตะกอนดินในแม่น้ำกก, แม่น้ำสาย และลำน้ำสาขา รวมถึงแม่น้ำโขง (สถานีเชียงแสน) เพิ่มเป็น 2 ครั้งต่อเดือน เริ่มตั้งแต่พฤษภาคม – กันยายน 2568 ส่วนกรมประมงได้เก็บตัวอย่างสัตว์น้ำไปวิเคราะห์แล้ว 3 ครั้ง ผลไม่พบโลหะหนักเกินค่ามาตรฐาน และอาการตุ่มแดงในสัตว์น้ำเกิดจากปรสิต ด้านกรมอนามัยและหน่วยงานอื่นๆ ได้ตรวจคุณภาพน้ำประปา, น้ำบาดาล และปัสสาวะประชาชนในเดือนเมษายน 2568 ซึ่งผลตรวจยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
4. ด้านการบริหารจัดการ: มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน โดยมี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ติดตามต้นตอของปัญหาและดำเนินการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง โดยปัญหาการปนเปื้อนมลพิษในแม่น้ำกก-แม่น้ำสาย จะถูกบรรจุเป็นประเด็นหารือในการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee : RBC) ที่เมืองเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศเมียนมา ระหว่างวันที่ 17-20 มิถุนายนนี้ นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมเอเชียตะวันออก ได้ประสานงานผ่านสถานทูตไทยในเมียนมา และเชิญผู้แทนสถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทย เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน รัฐบาลยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ และให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเร่งด่วน ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี.