มจพ. โดยศูนย์ SePMC จัดสัมมนาใหญ่ “Semiconductor Technology Platform and Generative Innovation” ชูศักยภาพอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไทย
กรุงเทพฯ – เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2568 ณ ห้อง 223 คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ศูนย์พัฒนากำลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์และแผ่นวงจรพิมพ์ (Semiconductor and PCB Manpower Development Center, SePMC) คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ได้จัดงานสัมมนาเชิงเทคนิคและวิชาการครั้งสำคัญ ภายใต้หัวข้อ “Semiconductor Technology Platform and Generative Innovation” เพื่อเปิดมุมมองเชิงลึกในทุกมิติของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยีและเศรษฐกิจของประเทศ
การสัมมนาครั้งนี้ได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรชั้นนำในห่วงโซ่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ครอบคลุมประเด็นสำคัญตั้งแต่ มุมมองทางธุรกิจ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและประกอบ ไปจนถึงเทคนิคการตรวจสอบและวิเคราะห์ความล้มเหลว
ผศ.ดร.อนุสรา ศรีสรวล รองคณบดีฝ่ายอุตสาหกรรมสัมพันธ์และสหกิจศึกษา และ หัวหน้าศูนย์พัฒนากำลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์และแผ่นวงจรพิมพ์ คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มจพ. ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน พร้อมทั้งเปิดเผยถึงวัตถุประสงค์หลักของการจัดงานว่า เพื่อสร้างเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างบุคลากรจากภาคการศึกษา การวิจัย ภาคอุตสาหกรรม และเครือข่ายจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
งานสัมมนาได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรชั้นนำ ได้แก่ คุณจูอิจิ ไซโตะ รองประธานบริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการกลุ่ม บริษัท โฮริบา จำกัด, คุณเทนแนนท์ ชัย ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัท โตเกียว อิเล็คตรอน สิงคโปร์ จำกัด, คุณมาซาฟูมิ นากายามะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจญี่ปุ่นเพื่อลูกค้าองค์กร 2 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน), ดร.วุฒินันท์ เจียมศักดิ์ศิริ นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC), ดร.ณัฏฐพงษ์ สุทธิวงศ์สุนทร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ยูแทคไทย จำกัด, และ ดร.เช โบยัง นักวิทยาศาสตร์ด้านการประยุกต์ใช้เครื่องมือ บริษัท โฮริบะ อินสทรูเมนท์ (สิงคโปร์) จำกัด ซึ่งทุกท่านได้นำเสนอข้อมูลเชิงลึกและแนวโน้มล่าสุดของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
ผศ.ดร.อนุสรา กล่าวย้ำถึงความสำคัญของการสัมมนาในครั้งนี้ว่า เป็นโอกาสสำคัญในการนำองค์ความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพกำลังคนในระบบนิเวศของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไทยให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น พร้อมเสริมขีดความสามารถการแข่งขันในระดับสากล และเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การจัดสัมมนาได้รับความสนใจเป็นอย่างดี โดยมีผู้เข้าร่วมงานทั้งสิ้นจำนวน 86 คน สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวของภาคส่วนต่างๆ ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทย
ท้ายสุด ผศ.ดร.อนุสรา ยังได้กล่าวถึงแผนการดำเนินงานในอนาคตของศูนย์ SePMC เพื่อสร้างการรับรู้และพัฒนากำลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์อย่างต่อเนื่อง ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การพัฒนานักศึกษาที่อยู่ในระบบ STEM ด้วยกิจกรรม BootCamp การจัดอบรมความรู้พื้นฐานด้านเซมิคอนดักเตอร์สำหรับผู้สนใจทั่วไป การจัดชุดสัมมนาแบบต่อเนื่อง และการเชิญผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศมาร่วมบรรยายพิเศษ ซึ่งผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารและกิจกรรมของศูนย์ฯ ได้ทาง Facebook page: Semiconductor and PCB Manpower Development Center (https://www.facebook.com/profile.php?id=61574563475547)