กมธ. ป.ป.ช. ถกเข้มผู้ว่า สตง. ปมอาคารถล่ม ชี้พิรุธจัดซื้อ-ออกแบบ-คุมงาน จี้ ป.ป.ช. สอบภายใน
รัฐสภา, 30 เมษายน 2568 – คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ. ป.ป.ช.) นำโดย นายฉลาด ขามช่วง สส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ. พร้อมด้วย นายธีรัจชัย พันธุมาศ สส.กทม. พรรคประชาชน ในฐานะรองประธาน กมธ. ได้แถลงผลการประชุมภายหลังเชิญ นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะรวม 19 คน เข้าชี้แจงกรณีอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่ได้รับความเสียหายและถล่มจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งใช้เวลาในการหารือยาวนานกว่า 4 ชั่วโมง
นายฉลาด ขามช่วง กล่าวว่า การประชุมวันนี้ กมธ. ได้สอบถามข้อเท็จจริงหลายประเด็นที่ประชาชนทั้งประเทศยังคงคลางแคลงใจ เช่น ประเด็นเกี่ยวกับตัวบุคคลที่ลงนามรับรองแบบแปลน หรือผู้ที่ลงนามรับรองแต่ไม่ได้ทำหน้าที่ควบคุมงานจริง รวมถึงพบความไม่สอดคล้องกันของข้อมูลระหว่างคำให้การกับเอกสารที่มีอยู่ โดยเฉพาะผู้ควบคุมงานอย่าง นายสมเกียรติ ชูแสงสุข ประธานอนุกรรมการคลินิกช่าง ภายใต้สภาวิศวกร และ สว. สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ที่มีข่าวว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการควบคุมงานในฐานะผู้รับจ้างจาก สตง. ทั้งที่ สตง. ระบุว่า นายสมเกียรติเป็นหนึ่งในผู้รับจ้างในนามบริษัทร่วมค้า PKW ซึ่งควรเป็นวิศวกรภาคีอาวุโส ซึ่งข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นประเด็นที่ตำรวจอยู่ระหว่างการสอบสวน และ กมธ. ก็สงสัยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การชี้แจงของผู้ว่า สตง. ในวันนี้ ทำให้ กมธ. รู้สึกสบายใจขึ้นในบางประเด็น
ด้าน นายธีรัจชัย พันธุมาศ ระบุว่า การชี้แจงของผู้ว่า สตง. ในครั้งแรกนี้ ได้รับคำตอบที่ชัดเจนหลายเรื่อง แต่ทาง กมธ. จะยังคงมุ่งเน้นและติดตามเพิ่มเติมใน 3 ประเด็นหลักของการก่อสร้างอาคาร สตง. แห่งใหม่นี้ คือ การออกแบบ การจัดซื้อจัดจ้าง และการควบคุมงาน
สำหรับประเด็นการออกแบบ กมธ. ได้สอบถามว่าเหตุใด สตง. จึงใช้วิธีการคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง แทนที่จะเปิดประมูลแบบก่อสร้างตามมาตรา 83 ของ พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ซึ่งผู้ว่า สตง. ชี้แจงว่าเป็นเพราะอาคารมีความซับซ้อนและมีกฎกระทรวงรองรับไว้ แต่ กมธ. ตั้งข้อสังเกตว่าระยะเวลาในการคัดเลือกแบบนั้นสั้นเพียง 1 เดือน
ในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้าง กมธ. ตั้งข้อสังเกตถึงการใช้ระบบ E-bidding ในปี 2563 ซึ่งมีการลดราคาลงได้ 300 ล้านบาท แต่กลับพบข้อมูลว่าในปี 2562 ธนาคารโลก (World Bank) ได้เคยสั่งแบนบริษัทแม่ของผู้รับเหมาก่อสร้างหลักรายนี้ ซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติ จากกรณีสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ เช่น สะพานในประเทศชิลี เกิดเหตุการณ์ถล่ม นายธีรัจชัยตั้งคำถามว่าเหตุใด สตง. จึงยังเลือกใช้บริษัทนี้เป็นผู้รับเหมา ทั้งที่ข่าวน่าจะแพร่ไปทั่วโลก อีกทั้งบริษัทนี้เพิ่งจดทะเบียนในประเทศไทยได้เพียง 1 ปี นอกจากนี้ยังพบว่ามีการซื้อซองประมูลโครงการไปก่อน แต่ภายหลังกลับต้องใช้ชื่อบริษัทคนไทยที่มีผลงานมารับซองต่อ ซึ่งยังเป็นคำถามถึงความรับผิดชอบหลักว่าอยู่ที่ฝ่ายไทยหรือจีน แม้โครงสร้างหุ้นจะเป็นคนไทยถือ 51% และจีน 49% แต่จากข่าวที่ปรากฏความรับผิดชอบหลักดูเหมือนจะอยู่ที่บริษัทจีน
ประเด็นสุดท้าย การควบคุมงาน พบว่าใช้วิธีคัดเลือก ไม่ใช่ระบบ E-bidding นายธีรัจชัยได้นำความเห็นของนักวิชาการมาเสนอในที่ประชุมว่า หากบริษัทผู้ออกแบบ บริษัทผู้ควบคุมงาน และบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง มีการฮั้วกัน ก็อาจมีการแก้ไขแบบก่อสร้างโดยนัดแนะกัน ซึ่งจากการสอบถามพบว่ามีการแก้ไขแบบถึง 9 ครั้ง จึงตั้งข้อสังเกตว่าการแก้ไขแบบดังกล่าวเป็นการลดต้นทุนจริงหรือไม่ จะมีผลกระทบอะไรตามมาหรือไม่ และผู้ที่แก้ไขแบบได้มีการปรึกษาคณะกรรมการควบคุมงานของ สตง. หรือไม่ รวมถึงกรณีข่าวการปลอมลายเซ็นวิศวกร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องตรวจสอบ
นายธีรัจชัยทิ้งท้ายว่า หากมีการฮั้วกันจริงตามที่ตั้งข้อสังเกต อาจส่งผลกระทบต่อการตรวจสอบวัสดุก่อสร้างและการควบคุมคุณภาพงาน ซึ่งกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การควบคุมงาน และการออกแบบที่ผ่านมาอาจยังไม่ละเอียดรอบคอบเพียงพอ พร้อมตั้งคำถามว่าเป็นความบกพร่องผิดพลาดโดยสุจริต หรือถูกต้องโดยทุจริต และการตรวจสอบควรครอบคลุมเจ้าหน้าที่ของ สตง. ทุกขั้นตอน จึงเสนอแนะให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่วนกลาง เข้ามาตรวจสอบภายใน สตง. เพิ่มเติมโดยตรง เนื่องจาก สตง. เป็นหน่วยงานพิเศษ ไม่ใช่หน่วยงานรัฐทั่วไป ที่จะใช้ระเบียบปกติได้