พล.ต.ท.คำรบ เปิดโปง “อำนาจเจริญ” ต้นทางรวมโพยฮั้วสว.ทั่วปท. ชี้มีนักการเมืองใหญ่บงการ พ่วงขู่ข้าราชการระวังคุก หากไม่ร่วมมือดีเอสไอ

กรุงเทพฯ – เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2568 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พลตำรวจโท คำรบ ปัญญาแก้ว หัวหน้ากลุ่ม สว.สำรอง ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลที่น่าตกใจเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่กำลังจะมาถึง

พล.ต.ท.คำรบ กล่าวถึงกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญได้ทำหนังสือลับหารือกับปลัดกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่เข้าตรวจสอบเรื่องการฮั้วการเลือก สว. ในพื้นที่ ว่า จังหวัดอำนาจเจริญมีการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และชัดเจนว่าเป็นจุดที่มีกระบวนการจัดตั้งการฮั้ว สว. ขึ้น

ข้อมูลที่พบ ชี้ให้เห็นว่ามีกลุ่มนักการเมืองใหญ่ในพื้นที่เข้าไปบงการกระบวนการนี้อย่างชัดเจน มีทั้งข้าราชการฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ตำรวจบางส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยมีการเกณฑ์คนไปสมัครเพื่อแบ่งกลุ่มดูแลกันเป็นรายอำเภอ และมีการจ่ายเงินเพื่อจัดการเรื่องนี้

พล.ต.ท.คำรบ ย้ำว่า นักการเมืองใหญ่ในจังหวัดอำนาจเจริญไม่เพียงแต่ดูแลกระบวนการในจังหวัดเท่านั้น แต่ยังเป็นแกนหลักในการบริหารจัดการการฮั้ว สว. ของขบวนการนี้ทั้งประเทศด้วย เนื่องจากพบข้อมูลว่าเครือข่ายตัวแทนในแต่ละจังหวัดจะต้องส่งรายชื่อพร้อมหมายเลขของผู้สมัครเข้ามา เพื่อให้กลุ่มผู้บงการ ซึ่งก็คือนักการเมืองใหญ่คนดังกล่าว เป็นผู้รวบรวม “โผ” เพื่อส่งต่อไปยังผู้มีอำนาจที่แท้จริง เพื่อตัดสินใจว่าใครควรจะได้เป็น สว. จากนั้นจึงจะมีการรวมเป็นตาราง “โพย” ออกมา

“เพราะฉะนั้น คำว่า ‘โพย’ มีที่มาจากจังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นทางในการรวมโผทั้งหมด” พล.ต.ท.คำรบ กล่าว

พล.ต.ท.คำรบ เชื่อว่า การที่เรื่องนี้ถูกสืบสวนสอบสวนโดยดีเอสไออย่างใกล้ชิด ทำให้กลุ่มผู้เกี่ยวข้องเริ่มร้อนตัว ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่ว่า เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ที่ผ่านมา จังหวัดอำนาจเจริญได้ทำบันทึกถึงกระทรวงมหาดไทยเพื่อหารือแนวทางรับมือหากดีเอสไอเข้ามาตรวจสอบ แสดงให้เห็นถึงความกังวลตั้งแต่ช่วงนั้น และแม้กระทรวงมหาดไทยจะมีการยกร่างหนังสือที่เป็นแนวทางปฏิบัติออกมา แต่ก็ไม่ได้นำไปใช้จริง

พล.ต.ท.คำรบ ได้ฝากเตือนไปยังข้าราชการฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ตำรวจในหลายพื้นที่ ว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 22 (17) เจ้าหน้าที่เหล่านี้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามและให้ความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ หากได้รับการประสานงาน

เน้นย้ำว่า “แต่ถ้าไม่ให้ความร่วมมือ ขัดขืน ขัดขวาง หรือมีพฤติการณ์ช่วยเหลือผู้กระทำความผิดให้ได้รับโทษน้อยลง จะมีความผิดตามมาตราดังกล่าว และนำไปสู่ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งมีโทษจำคุก 1-10 ปี อีกทั้งยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 200 ด้วย” พร้อมระบุว่า การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ได้ให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้ ก็เป็นไปตามข้อกฎหมายแล้ว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *