วธ. เปิด “เขมราษฎร์ธานี” สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชนยลวิถี” ชูเสน่ห์เมืองเก่าริมโขง อุบลฯ

อุบลราชธานี – เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ถนนสายวัฒนธรรมเขมราษฎร์ธานี จังหวัดอุบลราชธานี น.ส.พลอย ธนิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดชุมชนเขมราษฎร์ธานี ในฐานะ 1 ใน 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชนยลวิถี” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โดยมี นายภพ ภูสมปอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม หัวหน้าส่วนราชการ เครือข่ายทางวัฒนธรรม ศิลปินท้องถิ่น และพี่น้องประชาชนชุมชนเขมราษฎร์ธานี เข้าร่วมอย่างคับคั่ง

กิจกรรมภายในงานเต็มไปด้วยสีสันทางวัฒนธรรม มีการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่งดงาม อาทิ รำตังหวาย รำตุ้มผ่าง การแสดงโชว์ของดีเมืองเขม รวมถึงการสาธิตภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม เช่น ผ้าฝ้ายย้อมคราม งานใบตอง และการทำของที่ระลึกจากผ้าฝ้ายทอมือจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโพธิ์เมือง

นอกจากนี้ ยังมีการสาธิตสำรับอาหารพื้นถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น ข้าวผัดน้ำผัก และน้ำหมากค้อ พร้อมจัดแสดงผลิตภัณฑ์โดดเด่นของชุมชน ได้แก่ ผ้าฝ้ายย้อมคราม กล้วยตากแสงแรก ข้าวเม่าคาราเมล แหนมใบมะยม และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่น่าสนใจ อีกทั้งยังมีการเยี่ยมชมการสาธิตอาหารจากโครงการ “รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste ปี 67” กับเมนู “วุ้นตาลน้ำกะทิ” ที่หาทานยาก พร้อมกันนี้ยังมีการมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะกิจกรรมการแข่งขันนักเล่าเรื่องเมืองเขม เพื่อส่งเสริมการถ่ายทอดเรื่องราวและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสู่คนรุ่นใหม่

ในโอกาสนี้ น.ส.พลอย ธนิกุล พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวและวิถีชีวิตภายในชุมชนเขมราษฎร์ธานี เริ่มจากการกราบสักการะพระเจ้าใหญ่องค์แสน พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง และไหว้ขอพรพญานาคราช ณ วัดโพธิ์ รวมถึงชมต้นมะขามอายุกว่า 300 ปี จากนั้นได้เดินทางไปยังวัดชัยภูมิการาม (วัดกลาง) เพื่อกราบสักการะพระสิทธิมงคล พระประธาน และชมภาพเขียนสีจิตรกรรมฝาผนังแบบอีสาน หรือที่เรียกว่า “ฮูปแต้ม” และชมความงามของเหรา (อ่านว่า เห-รา) ซึ่งเป็นสัตว์ในวรรณคดี

อีกหนึ่งจุดที่คณะให้ความสนใจคือการเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ผ้าฝ้ายย้อมคราม (บ้านป้าติ๋ว) เพื่อชมการสาธิตขั้นตอนการทำผ้าฝ้ายย้อมครามอย่างละเอียด ตั้งแต่การดีดฝ้าย อิ้วฝ้าย การย้อมฝ้าย ไปจนถึงการทอผ้า รวมถึงการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผ้าฝ้ายย้อมคราม ซึ่งเป็นสินค้าขึ้นชื่อของชุมชน

น.ส.พลอย ธนิกุล กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของชุมชนเขมราษฎร์ธานีว่าเป็น “เมืองประวัติศาสตร์” ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 200 ปี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงตรงข้ามสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ชื่อ “เขมราษฎร์” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น “เขมราฐ” ในสมัยรัชกาลที่ 5 ล้วนมีความหมายเดียวกันคือ “ดินแดนแห่งความเกษมสุข” ชุมชนแห่งนี้มีความเข้มแข็ง มีผู้นำและคนในชุมชนที่มีศักยภาพ ผนวกกับอัตลักษณ์และคุณลักษณะที่โดดเด่น รวมถึงวิสัยทัศน์ร่วมกันในการฟื้นฟูเมืองเก่าที่มีประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจที่เคยรุ่งเรือง ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้สัมผัสบรรยากาศอันอบอุ่นตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่

จากเจตนารมณ์ดังกล่าว ก่อเกิดเป็น “ถนนสายวัฒนธรรมเขมราษฎร์ธานี” ซึ่งเริ่มจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2556 และยังคงจัดขึ้นทุกวันเสาร์จนถึงปัจจุบัน เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวให้ได้สัมผัสวิถีชีวิตอันเรียบง่ายและอบอุ่น ท่ามกลางบรรยากาศอาคารบ้านเรือนย้อนยุค มีร้านค้าจำหน่ายสินค้าพื้นบ้าน ผ้าทอ สินค้าหัตถกรรม อาหารพื้นบ้าน ของที่ระลึก รวมถึงการจัดแสดงภาพอดีตและปัจจุบันของอำเภอเขมราฐ และการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม เช่น รำตังหวาย รำตุ้มผ่าง และฟ้อนภูไท ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถร่วมกิจกรรมได้อย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ ถนนสายวัฒนธรรมเขมราษฎร์ธานียังมีมุมถ่ายรูปบ้านเก่าแก่ที่งดงาม และมีอาหารพื้นถิ่นที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดคือ “ข้าวผัดแจ่วน้ำผัก” ซึ่งเป็นเมนูที่ผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นโบราณสู่นวัตกรรมอาหารจากโรงแรมสุขสงวน โรงแรมแห่งแรกของอำเภอเขมราฐ รวมถึงการจัดนิทรรศการภาพเก่าแก่ของอำเภอเขมราฐ

ปัจจุบัน ถนนสายวัฒนธรรมเขมราษฎร์ธานีได้รับการพัฒนาและต่อยอดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรต่างๆ รวมถึงความร่วมมืออันดีจากชุมชนเอง ทำให้มีการจัดกิจกรรมที่หลากหลายและน่าสนใจยิ่งขึ้น เช่น การจัดฉายหนังกลางแปลง การจัดกิจกรรมในซอยปลาคาบของ และการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้แสดงออกถึงความสามารถ ซึ่งทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมของชุมชนเขมราษฎร์ธานีในฐานะสุดยอดชุมชนต้นแบบด้านการท่องเที่ยววิถีไทย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *