ไก่ วรายุทธ – กระทิง ชี้ ‘ละครแนวตั้ง’ โอกาสทองวงการละครไทย ดัน Soft Power สู่สากล

‘ละครแนวตั้ง’ ทางรอดวงการละครไทย ผลักดัน Soft Power สู่สากล: เสียงจากเวิร์กช็อป EMDT ที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรมและ THACCA

ในยุคที่พฤติกรรมผู้บริโภคคอนเทนต์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ‘Micro Drama’ หรือ ‘ละครแนวตั้ง’ ได้กลายเป็นรูปแบบเนื้อหาที่มาแรงระดับโลก ด้วยจุดเด่นที่กระชับ เข้าถึงง่าย และตอบโจทย์การรับชมผ่านหน้าจอมือถือโดยเฉพาะ เมื่อวันที่ 15–16 พฤษภาคม 2568 ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพฯ ได้มีการจัดเวิร์กช็อปเชิงลึกในชื่อ “EMDT เจาะลึกเทรนด์ละครแนวตั้ง: การสร้างสรรค์ สร้างรายได้ สร้าง Soft Power” ขึ้น เพื่อเจาะลึกถึงศักยภาพและโอกาสของคอนเทนต์รูปแบบนี้สำหรับวงการบันเทิงไทย

งานนี้ได้รับความร่วมมือและสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานภาครัฐที่สำคัญ ได้แก่ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และ สำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (THACCA – Thailand Creative Culture Agency) รวมถึง โครงการ OFOS (One Family One Soft Power) และภาควิชาการจาก มทร.กรุงเทพฯ โดยมีบุคคลชั้นนำจากวงการบันเทิงไทยเข้าร่วมและแสดงความเห็นต่อทิศทางของละครแนวตั้งอย่างน่าสนใจ

เสียงสะท้อนจากเวทีนี้ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ‘ละครแนวตั้ง’ ไม่ใช่แค่เทรนด์ชั่วคราว แต่คือ ‘โอกาสทอง’ ที่วงการละครไทยควรคว้าไว้เพื่อการฟื้นฟูและเติบโต โดยเฉพาะการใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน Soft Power ไทยสู่เวทีโลก

ดร.เศรษฐา วีระธรรมานนท์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์ จาก มทร.กรุงเทพฯ กล่าวเน้นย้ำถึงศักยภาพของละครแนวตั้งว่า “ละครแนวตั้งตอบโจทย์ผู้ชมยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี และมีศักยภาพในการสร้างรายได้จริง สิ่งที่เราควรเร่งดำเนินการคือการพัฒนาบุคลากรด้านนี้ของไทย ให้สามารถผลิตงานคุณภาพทัดเทียมระดับสากลได้”

ด้านผู้จัดละครชื่อดัง คุณวรายุทธ มิลินทจินดา ได้แสดงทัศนะจากประสบการณ์ในวงการว่า “Micro Drama ไม่ใช่เพียงแค่เทรนด์ แต่คือโอกาสสำคัญในการฟื้นฟูวงการละครไทยที่กำลังเผชิญกับภาวะซบเซาอยู่ในขณะนี้ หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ละครแนวตั้งจะเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการผลักดันคอนเทนต์ไทยที่มีเอกลักษณ์ ให้สามารถไปสู่สายตาผู้ชมในระดับโลกได้ไกลกว่าที่เคย”

ขณะที่นักแสดงหนุ่มมากความสามารถ กระทิง ขุนณรงค์ ประเทศรัตน์ ซึ่งเป็นกรรมการของ MinChap แอปพลิเคชันซีรีส์แนวตั้ง ได้สะท้อนมุมมองจากฝั่งผู้ผลิตและแพลตฟอร์มว่า “พฤติกรรมการรับชมคอนเทนต์ของผู้ชมมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ละครแนวตั้งสามารถตอบสนองพฤติกรรมนี้ได้ตรงจุด ด้วยรูปแบบที่สั้น กระชับ เข้าใจง่าย และที่สำคัญคือสามารถสร้างอารมณ์ร่วมกับผู้ชมได้อย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น อยากจะฝากให้ทุกท่านได้ลองเปิดใจและสนับสนุนซีรีส์และละครแนวตั้งของไทยกันเยอะๆ นะครับ”

เวิร์กช็อป EMDT นี้ไม่เพียงแต่มีการบรรยายเชิงวิชาการ แต่ยังเน้นการฝึกปฏิบัติจริง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้พัฒนาทักษะ อาทิ การปรับตัวของนักเล่าเรื่องไทยกับบทละครแนวตั้งเพื่อการผลิตจริง โดยมี 4 เป้าหมายหลักในการดำเนินงานคือ 1. ถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากร 2. เพิ่มทักษะในการสร้างผลงานจริง 3. จุดประกายแรงบันดาลใจให้ผู้ผลิตรุ่นใหม่ และ 4. ส่งเสริมการใช้เนื้อหาละครแนวตั้งเป็นเครื่องมือสร้าง Soft Power ไทยที่เข้าถึงผู้ชมทั่วโลก

เสียงตอบรับที่ดีเยี่ยมจากเวิร์กช็อปในครั้งนี้ ตอกย้ำความเชื่อมั่นว่า ‘ละครแนวตั้ง’ จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในฐานะ ‘ฟันเฟืองใหม่’ ของอุตสาหกรรมบันเทิงไทย ไม่เพียงแต่ช่วยให้วงการฟื้นตัวจากภายใน แต่ยังเป็นสะพานเชื่อมนำวัฒนธรรมและเรื่องราวของไทยไปสู่สายตาผู้ชมทั่วโลกได้อย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *