ระทึก! พายุลูกเห็บถล่มธาตุพนม ลมหมุนซัดเสาไฟฟ้าแรงสูงโค่น 26 ต้น ไฟดับวงกว้าง การจราจรติดขัด
นครพนม – เกิดเหตุพายุฝนฟ้าคะนองและลูกเห็บพัดถล่มอย่างรุนแรงในพื้นที่ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2568 ทำให้เสาไฟฟ้าแรงสูงริมถนนสายนครพนม-ธาตุพนม หักโค่นล้มระเนระนาดถึง 26 ต้น เป็นระยะทางกว่า 900 เมตร ส่งผลกระทบให้ไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้างและการจราจรติดขัดอย่างหนัก
รายงานข่าวแจ้งว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 13.20 น. โดยสภาพอากาศก่อนเกิดพายุมีลักษณะร้อนอบอ้าวและมีลมกระโชกแรง ก่อนที่จะมีลมหมุนและพายุลูกเห็บตกลงมาอย่างหนักต่อเนื่องนานประมาณ 20 นาที โดยเฉพาะในพื้นที่บ้านบุ่งฮี หมู่ 3 ต.พระกลางทุ่ง ซึ่งเป็นจุดที่ได้รับความเสียหายรุนแรง
พายุที่รุนแรงนี้ได้พัดกระหน่ำและซัดเสาไฟฟ้าแรงสูงที่ตั้งอยู่ริมถนน 4 เลน สายนครพนม-ธาตุพนม ฝั่งขาเข้าตัวอำเภอธาตุพนม ก่อนถึงตัวอำเภอประมาณ 5 กิโลเมตร ทำให้เสาไฟฟ้าเริ่มหักโค่นล้มเป็นทอดๆ คล้ายโดมิโน ตั้งแต่บริเวณหน้า อบต.พระกลางทุ่ง ไปจนถึงโค้งปากทางเข้า ตชด.235 รวมระยะทางยาวประมาณ 900 เมตร โดยมีเสาไฟฟ้าหักโค่นเสียหายถึง 26 ต้น เบื้องต้นยังไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายที่ชัดเจนได้
นายอ่อนศรี พรหมอารักษ์ อายุ 62 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ กล่าวเปิดเผยว่า ก่อนเกิดพายุ ท้องฟ้ามืดครึ้มอย่างรวดเร็ว จากนั้นก็เกิดพายุลูกเห็บตกลงมาอย่างหนัก พร้อมกับมีฟ้าร้องเสียงดังสนั่นและลมที่พัดหมุนอย่างรุนแรง ตนเห็นเสาไฟฟ้า 2-3 ต้นแรกหักโค่นล้มก่อน จากนั้นเสาต้นอื่นๆ ก็หักโค่นตามกันไป ตนอาศัยอยู่ที่นี่มานานกว่า 60 ปี ไม่เคยพบเห็นพายุลูกเห็บที่รุนแรงและสร้างความเสียหายต่อเสาไฟฟ้าได้มากมายขนาดนี้มาก่อนในชีวิต
ผลกระทบจากเสาไฟฟ้าแรงสูงหักโค่น ทำให้กระแสไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้างหลายจุดในพื้นที่ อ.ธาตุพนม และพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนี้ เสาและสายไฟฟ้าที่หักโค่นยังกีดขวางถนน 2 ช่องทางจราจร ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.หลักศิลา ต้องเข้าพื้นที่เพื่อปิดกั้นการจราจร และจัดการให้รถยนต์ที่สัญจรผ่านใช้ช่องทางเดียววิ่งสวนเลนเข้าตัวอำเภอธาตุพนม ส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดสะสมเป็นจำนวนมาก
ขณะเดียวกัน ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) สาขาอำเภอธาตุพนม ได้เร่งระดมเจ้าหน้าที่และทีมช่างเข้าพื้นที่เกิดเหตุอย่างเร่งด่วนเพื่อสำรวจความเสียหายในเบื้องต้น พร้อมทั้งวางแผนและเริ่มดำเนินการซ่อมแซมเสาและสายไฟฟ้าแรงสูงที่ได้รับความเสียหายโดยเร็วที่สุด คาดว่าการดำเนินการแก้ไขจะใช้เวลาประมาณ 8-12 ชั่วโมง เพื่อให้สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้ากลับคืนสู่ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต่อไป