กสส.ผนึกกำลังเครดิตบูโร เปิดตัว ‘Credit Lock’ ช่วยสมาชิกสหกรณ์หลุดพ้นหนี้เสีย หลังเศรษฐกิจซบ ป้องกันก่อหนี้ใหม่

กรมส่งเสริมสหกรณ์ (กสส.) จับมือ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เปิดตัวเครื่องมือ “Credit Lock” เพื่อช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีปัญหาภาระหนี้เสีย หรือ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จากผลกระทบสถานการณ์เศรษฐกิจ ให้สามารถบริหารจัดการหนี้และหลุดพ้นจากปัญหานี้สินได้เร็วขึ้น พร้อมทั้งสร้างวินัยทางการเงินแก่สมาชิก ป้องกันการก่อหนี้ใหม่ โดยมีเป้าหมายให้สมาชิกมีสภาพคล่องในการดำรงชีวิต และมีเงินเหลือหลังชำระหนี้ประมาณ 30% ของรายได้ทั้งหมด

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสหกรณ์ออมทรัพย์ทั่วประเทศมีจำนวนรวม 1,400 แห่ง มีหนี้โดยรวมประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งพบว่ามีสมาชิกที่มีภาระหนี้เสีย หรือ NPL อยู่ประมาณ 1% ของวงเงินกู้ทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่ายังต่ำกว่าอัตราหนี้เสียในระบบสถาบันการเงินโดยรวมที่อยู่ประมาณ 7% อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่มีปัญหาเริ่มส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกที่อยู่ในสหกรณ์ออมทรัพย์ของภาคเอกชน ซึ่งมีประมาณ 300 แห่ง และได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้บางกิจการปิดตัวลง หรือย้ายฐานการผลิตไปแล้วประมาณ 10 แห่ง ส่งผลให้สมาชิกเหล่านี้ประสบปัญหาในการชำระหนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการร่วมมือกับเครดิตบูโร เพื่อช่วยเหลือสมาชิกเหล่านี้

ความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการหนี้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ และสร้างวินัยทางการเงินแก่สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “Credit Lock” สหกรณ์จะนำส่งข้อมูลสมาชิกที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งประกอบด้วย ชื่อ-นามสกุล เลขบัตรประชาชน และวันที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้แก่บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เพื่อดำเนินการตรวจสอบและระบุสถานะในระบบ ทำให้สถาบันการเงินอื่นๆ ใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติมแก่สมาชิกรายดังกล่าว ซึ่งหากสมาชิกยังมีหนี้สินที่ค้างชำระอยู่ก็จะไม่สามารถกู้สินเชื่ออื่นๆ เพิ่มเติมได้ ถือเป็นการป้องกันการก่อหนี้ใหม่ที่ไม่จำเป็น

นายวิศิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้จะช่วยให้สมาชิกมีวินัยทางการเงินที่เข้มแข็งขึ้น และส่งผลให้การบริหารสินเชื่อของสหกรณ์มีความเหมาะสมและยั่งยืน หากสมาชิกสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินและปลดหนี้ได้เรียบร้อยแล้ว ก็สามารถแจ้งความประสงค์เพื่อยกเลิกเงื่อนไข “Credit Lock” และกรมส่งเสริมสหกรณ์จะนำส่งข้อมูลวันที่สมาชิกออกจากโครงการเพื่อให้บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ดำเนินการปรับปรุงข้อมูลในระบบต่อไป

ด้านนายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) กล่าวว่า การลงนาม MOU กับกรมส่งเสริมสหกรณ์ในครั้งนี้ เป็นการใช้ข้อมูลเครดิตเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งเป็นการผลักดันให้เกิดการบริหารจัดการภาคสหกรณ์บนฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ นำไปสู่การวางแผนเชิงกลยุทธ์ที่ดีขึ้น เบื้องต้นได้เริ่มร่วมมือกับสหกรณ์ออมทรัพย์แล้วประมาณ 7 แห่ง และเชื่อมั่นว่าความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยให้สมาชิกมีสภาพคล่องและหลุดพ้นจากปัญหานี้สินได้

นายสุรพล ย้ำว่า การแก้หนี้โดยการรวมหนี้มาไว้ที่สหกรณ์ทางเดียว และควบคุมการก่อหนี้ใหม่ผ่านระบบ “Credit Lock” ถือเป็นวิธีที่ง่ายต่อการบริหารจัดการหนี้มากที่สุด การที่ลูกหนี้สหกรณ์ยินยอมที่จะรวมหนี้และส่งข้อมูลมาให้เครดิตบูโร เปรียบเสมือนการยินยอมให้มีการตรวจสอบสถานะหนี้ และส่งสัญญาณให้สถาบันการเงินกว่า 160 แห่ง ที่อยู่ในระบบเครดิตบูโร รับทราบว่าสมาชิกรายดังกล่าวจะไม่สามารถก่อหนี้ใหม่เพิ่มได้ เป็นการสร้างวินัยทางการเงินที่ชัดเจน

สำหรับภาพรวมหนี้ของคนไทยที่อยู่ในระบบเครดิตบูโร มีประมาณ 33 ล้านราย โดยหนี้ครัวเรือนไทยภาพรวมอยู่ที่ 16.3 ล้านล้านบาท หากแยกหนี้ กยศ. และหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ออก จะเหลือข้อมูลหนี้ที่อยู่ในระบบเครดิตบูโรประมาณ 13.4 ล้านล้านบาท ซึ่งครอบคลุมสินเชื่อจากสถาบันการเงิน 160 แห่ง ทั้งในและต่างประเทศ โดยในจำนวนนี้มีหนี้เสียรวม 1.1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นหนี้เสียรายบุคคลประมาณ 5 ล้านราย ซึ่งในจำนวนนี้ 3.3 ล้านรายเป็นหนี้เสียที่มีมูลหนี้ไม่เกิน 100,000 บาท

ปัจจุบัน แนวโน้มหนี้เสียในระบบเครดิตบูโรยังคงทรงตัว โดยอัตราการเติบโตติดลบอยู่ที่ 0.5% ส่วนหนึ่งมาจากสถาบันการเงินชะลอการปล่อยสินเชื่อใหม่ อย่างไรก็ตาม หากมีมาตรการภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนเพิ่มเติม เช่น การขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ หรือมีมาตรการแก้หนี้เพิ่มเติมจากทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์และสถาบันการเงินต่างๆ เชื่อว่าแนวโน้มหนี้เสียจะคงที่และค่อยๆ ลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *