เปิดกรุวัตถุมงคลยอดนิยม-หายาก จากพระเกจิอาจารย์ดังทั่วไทย

ในวงการพระเครื่องและวัตถุมงคลของไทย ยังคงมีความคึกคักอยู่เสมอ ด้วยศรัทธาและความเชื่อมั่นในพุทธคุณของพระเกจิอาจารย์ผู้ทรงภูมิปัญญาและวิทยาคม วันนี้จะพาไปทำความรู้จักกับวัตถุมงคลหลายรุ่นที่ได้รับความนิยมและบางรุ่นกลายเป็นของหายากที่นักสะสมต่างเสาะแสวงหา

พระสมเด็จกล้วย หลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง

เริ่มต้นที่ “พระครูสมุทรวิริยาภรณ์” หรือ “หลวงพ่อปึก บุญญวิริโย” อดีตเจ้าอาวาสวัดสวนหลวง จ.สมุทรสงคราม พระเกจิที่ชาวอัมพวาเลื่อมใส วัตถุมงคลของท่านมีหลายรุ่น แต่ที่ได้รับความนิยมคือ “พระสมเด็จกล้วย” ซึ่งสร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ.2516 พระรุ่นนี้ไม่ได้สร้างโดยหลวงพ่อปึกโดยตรง แต่มีผู้สร้างแล้วนำมาถวาย เป็นพระเนื้อผงผสมเนื้อกล้วย พิมพ์สมเด็จฐาน 7 ชั้น มีหูบายศรี ครอบด้วยซุ้มระฆัง ด้านหน้ามีเอกลักษณ์จำง่าย ส่วนด้านหลังเรียบ ไม่มีอักขรยันต์ ทุกวันนี้พระสมเด็จกล้วยกลายเป็นวัตถุมงคลที่หายาก

เหรียญบัวเล็ก หลวงพ่อสุด วัดกาหลง

หลวงพ่อสุด สิริธโร อดีตเจ้าอาวาสวัดกาหลง จ.สมุทรสาคร พระเกจิชื่อดังแห่งมหาชัย ก็มีวัตถุมงคลยอดนิยมมากมาย หนึ่งในนั้นคือ “เหรียญหลวงพ่อสุด รุ่นปิตุภูมิ” หรือที่เรียกกันว่า “รุ่นบัวเล็ก” สร้างในปี พ.ศ.2522 เพื่อนำรายได้ไปร่วมสร้างพระอุโบสถ วัดศรีมงคล จ.ร้อยเอ็ด เหรียญนี้เป็นทรงรูปไข่แบบมีหูในตัว ด้านหน้าเป็นรูปจำลองหลวงพ่อสุดนั่งสมาธิ ใต้ฐานมีรูปเสือและอักษร “หลวงพ่อสุด วัดกาหลง” ด้านหลังเป็นยันต์ตะกร้อ อันเป็นยันต์ครูประจำตัวของท่าน มีข้อความเกี่ยวกับรุ่นปิตุภูมิและการสร้างโบสถ์วัดศรีมงคล ทุกเหรียญมีการตอกโค้ด ส.เสือ ที่สังฆาฏิ ถือเป็นเหรียญอีกรุ่นที่หายาก

พระเหนือพรหม หลวงปู่ดู่ วัดสะแก

“หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ” พระวิปัสสนาจารย์แห่งวัดสะแก จ.พระนครศรีอยุธยา วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมอย่างสูงคือ “พระเหนือพรหมเนื้อผง” มีรูปแบบเป็นพระพรหมสี่หน้าและมีรูปพระพุทธองค์อยู่บนเศียรพระพรหม รุ่นแรกสร้างปี 2517 เป็นเนื้อผงสีขาว หรือผงมหาจักรพรรดิที่หลวงปู่ดู่ลบด้วยตนเอง บางองค์มีคราบน้ำชา ต่อมาปี 2531 ท่านได้สร้างอีกรุ่นที่ผสมเส้นเกศาด้วย พิมพ์ทรงคล้ายเดิมแต่หน้าพรหมคมชัดกว่ารุ่นแรก และยังมีเนื้อโลหะผสมอีกด้วย พระเหนือพรหมเนื้อผงยุคแรกจะไม่ปั๊มยันต์หมึกรูปกงจักร ซึ่งยันต์นี้ปั๊มภายหลังมรณภาพเพื่อป้องกันการปลอมแปลง ปัจจุบันเป็นวัตถุมงคลที่หายาก

เหรียญหลวงปู่ถิน วัดดงเมืองน้อย

หลวงปู่ถิน สารานุโม อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านดงเมืองน้อย จ.มหาสารคาม แม้จะสร้างวัตถุมงคลไม่กี่รุ่น แต่ “เหรียญหลวงปู่ถิน พ.ศ.2520” ที่ระลึกงานผูกพัทธสีมาอุโบสถวัดดงเมืองน้อย ก็ได้รับความนิยมอย่างสูง เป็นเหรียญกลมยกขอบ ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนครึ่งองค์ มีชื่อและสมณศักดิ์กำกับ ด้านหลังมียันต์อักขระพระเจ้าห้าพระองค์ และข้อความที่ระลึกงานฝังลูกนิมิต รวมถึงที่ตั้งวัด เป็นเหรียญยอดนิยมในพื้นที่ อ.ยางสีสุราช

เหรียญแซยิด หลวงปู่คำพันธ์ วัดพระธาตุมหาชัย

ในปี พ.ศ.2537 คณะศิษย์ได้สร้าง “เหรียญหลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ รุ่นแซยิด” เพื่อฉลองครบรอบ 80 ปี ในวันที่ 10 มกราคม 2538 ลักษณะเป็นเหรียญรูปทรงหยดน้ำ ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนหลวงปู่คำพันธ์ครึ่งองค์ มีตอกโค้ด “ธ.ช.” และสลักสมณศักดิ์ “พระสุนทรธรรมากร” ด้านหลังมียันต์มหาเศรษฐีสี่ทิศ ซึ่งเป็นยันต์ประจำตัวหลวงปู่ พร้อมตอกโค้ด “นะ” และ “ธ.ช.” อีกครั้ง รวมถึงข้อความระลึกรุ่นแซยิด เป็นเหรียญที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงในหมู่นักสะสม

เหรียญเจริญพร หลวงปู่สิงห์ วัดศรีสุข

ในปี พ.ศ.2556 เนื่องในวาระการก่อสร้างกุฏิไม้กลางสระน้ำ คณะศิษย์ได้รับอนุญาตจาก “หลวงปู่สิงห์ คัมภีโร” อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีสุข จ.มหาสารคาม ให้จัดสร้าง “เหรียญรูปเหมือนครึ่งองค์ รุ่นเจริญพร” เพื่อนำรายได้สมทบทุนสร้างสำนักปฏิบัติธรรมโพธิ์สามต้น เหรียญเป็นทรงรูปไข่ ด้านหน้ามีรูปเหมือนหลวงปู่สิงห์ครึ่งองค์ มีคำว่า “เจริญพร” เหนือรูป และชื่อ-สมณศักดิ์ “พระครูสิริสุขวัฒน์ (สิงห์)” ด้านล่าง พร้อมอักษร “ส” บาลีที่ผ้าอังสะ ด้านหลังมียันต์พระเจ้าห้าพระองค์แบบอักษรล้านนา พร้อมโค้ด “สจ” และโค้ดตราตำรวจ เป็นอีกรุ่นที่กระแสตอบรับในพื้นที่แรงขึ้นต่อเนื่อง

วัตถุมงคลเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ แต่ยังสะท้อนถึงประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาของพระเกจิอาจารย์ไทย ซึ่งยังคงเป็นที่เคารพศรัทธาของผู้คนจนถึงปัจจุบัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *