เสวนา ‘แผ่นดินไหวไม่ใช่เรื่องไกลตัว’ ชี้ปัญหาแจ้งเตือนภัยล่าช้า สว.นันทนาจี้แก้โกงสร้างตึกถล่ม เสนอสร้างอนุสรณ์สถานแห่งความโกง

รัฐสภา – เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2568 ที่รัฐสภา หอสมุดรัฐสภาจัดเสวนา เรื่อง “แผ่นดินไหวไม่ใช่เรื่องไกลตัว: พร้อมแค่ไหนกับการรับมือแผ่นดินไหว” เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และข้อเสนอเชิงนโยบาย โดยมีผู้แทนภาครัฐ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติ และผู้แทนภาคประชาชนเข้าร่วม อาทิ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว., น.ส.ศนิวาร บัวบาน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และ กมธ.ป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติฯ สภาฯ, นายนคร ภู่วโรดม อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายไพบูลย์ นวลนิล นักแผ่นดินไหววิทยา

นายไพบูลย์ นวลนิล นักแผ่นดินไหววิทยา เสนอให้มีการจัดตั้ง Bangkok metropolitan Strong Motion Network (BSMN) ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนทั้งระยะใกล้และไกลอย่างแม่นยำ โดยมองว่าการลงทุนในเครือข่ายตรวจวัดนี้ไม่สูงมาก แต่สามารถช่วยประเมินความแข็งแรงของอาคารได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือระบบการเตือนภัย ซึ่งปัจจุบันกรมอุตุนิยมวิทยาของไทยใช้เวลาแปลผลประมาณ 10 นาที ซึ่งถือว่าล่าช้ามากเมื่อเทียบกับต่างประเทศที่ใช้เวลาเพียง 30 วินาที ทำให้การแจ้งเตือนของไทยเป็นเพียง Reporting ไม่ใช่ Warning

นายไพบูลย์ เสนอแนวทางแก้ไขให้ไทยพัฒนาการแจ้งเตือนแผ่นดินไหวให้รวดเร็วขึ้น เพิ่มจำนวนสถานีตรวจวัดให้ครอบคลุมมากขึ้น เปลี่ยนวิธีแปลผลให้รู้ตำแหน่งและขนาดได้ภายในเวลาอย่างน้อย 1 นาที ส่งบุคลากรไปอบรมการแปลผลอย่างรวดเร็วในต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ เพิ่มช่องทางการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง และให้หน่วยงานแจ้งเตือนภัยพิบัติเป็นหน่วยงานอิสระ นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการออกกฎหมายบังคับให้ติดตั้งตัวเตือนความสั่นไหวในอาคาร และเพิ่มสถานีตรวจวัดตามแนวชายแดนให้มากขึ้น

ด้าน นายนคร ภู่วโรดม อาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงปัญหาการตรวจสอบการออกแบบของวิศวกรที่ยังไม่มีกลไกที่ชัดเจนและไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง มองว่ากฎหมายในอนาคตควรมีกลไกถ่วงดุลมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมามักพบปัญหาว่าไม่มีใครยอมจ่ายเพิ่มเพื่อความปลอดภัย แต่เป็นการแข่งขันด้านธุรกิจมากกว่า นายนครเสนอว่าควรมีการติดตั้งเครื่องมือเตือนแผ่นดินไหวในอาคาร เพื่อให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจสั่งการอพยพได้ทันที ลดความสูญเสีย พร้อมเน้นย้ำว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต้องจดจำไว้เป็นบทเรียน แต่อย่าตื่นตระหนกจนเกินไป

ขณะที่ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. กล่าวถึงระบบการตรวจสอบจัดซื้อจัดจ้างที่มีปัญหาอย่างแน่นอน โดยยกกรณีตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มูลค่า 2 พันล้านบาทที่ถล่มลงมาหลังแผ่นดินไหวที่พม่า เป็นวิกฤตชาติที่ต้องถอดบทเรียนครั้งใหญ่ พร้อมวิจารณ์ว่ารัฐบาลสอบตกในการสื่อสารภาวะวิกฤต

น.ส.นันทนา กล่าวต่อว่า ปัญหาสำคัญคือรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เปิดช่องโหว่ ทำให้ประชาชนหรือ สส. ไม่สามารถเข้าชื่อตรวจสอบหรือถอดถอนองค์กรอิสระที่มีพฤติกรรมแปลกๆ หรือใช้งบประมาณอย่างไม่สมเหตุสมผลได้ ทั้งที่หน่วยงานราชการทั่วไปหากใช้งบไม่หมดต้องคืนคลัง แต่อองค์กรอิสระกลับเก็บเงินเหลือมาสร้างอาคารหรู ซื้อเก้าอี้ตัวละ 100,000 บาท ฝักบัว 40,000 บาท แสดงให้เห็นว่ากฎหมายไม่เปิดโอกาสให้ตรวจสอบถ่วงดุลได้ เปลือยเปล่าระบบทั้งหมด ทั้งจีนเทา นอมินี และกระบวนการที่ให้คนอายุ 85 ปีเซ็นแบบก่อสร้าง รวมถึงปัญหาคุณภาพเหล็กเส้น

สว.นันทนา เห็นว่า งบประมาณ 2 พันล้านบาทที่เสียไปจากกรณีตึก สตง. ควรนำมาปฏิรูประบบการจัดซื้อจัดจ้างของราชการไทยและองค์กรอิสระใหม่ทั้งหมด ต้องตรวจสอบและถ่วงดุลให้ได้ พร้อมเสนอว่าวัฒนธรรมไทยควรมีวัฒนธรรมหน้าบางเหมือนญี่ปุ่นที่เกิดเรื่องต้องลาออก ไม่ควรปล่อยให้ตึก 2 พันล้านถล่มไปฟรีๆ แต่ต้องใช้เป็นกรณีศึกษาเพื่อให้ระบบจัดซื้อจัดจ้างเปลี่ยนไป คนที่รอเงินทอน 20-30% จะได้หนาว

“ดิฉันเสนอให้สร้างอนุสรณ์สถานแห่งความโกงให้เป็นสิ่งเตือนใจว่าเราจะไม่มีเหตุการณ์แบบนี้ การจัดซื้อจัดจ้างในภาคราชการต่อไปจะไม่มีแบบนี้ ใครที่ทำจะได้รับโทษทั้งทางแพ่งและอาญา โดยเอารูปผู้เสียชีวิตมาเพื่อรำลึกว่าเป็นเหยื่อของการทุจริตด้วย” น.ส.นันทนา กล่าว

ด้าน น.ส.ศนิวาร บัวบาน สส. กล่าวถึงความคืบหน้าของระบบ Cell Broadcast ว่าหน่วยงานแจ้งว่าจะทดสอบในวันที่ 2 พ.ค. และภายในเดือน ก.ค. จะสามารถใช้งานได้ในบางพื้นที่ ยอมรับว่าเรื่องแผ่นดินไหวไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับไทย แม้จะไม่บ่อยเท่าอุทกภัยหรือวาตภัย แต่ยังไม่มีการทบทวนบทเรียนอย่างจริงจัง เสนอให้หน่วยงานภาครัฐแชร์ข้อมูลกันมากขึ้น ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ และย้ำถึงความสำคัญของโครงสร้างรัฐที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยประชาชนเจ้าของเงินภาษีมีสิทธิ์ตรวจสอบ พร้อมเสนอความเป็นไปได้ที่จะจัดทำ platform ข้อมูลประวัติผลงานบริษัทผู้รับเหมาให้ประชาชนเข้าถึงได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *